ปัจจุบันปัญหาขยะเป็นปัญหาหนึ่ง
ที่ก่อให้เกิดความรำคาญกับประชาชน และเกิดความยากลำบากแก่ภาครัฐในการกำจัดขยะ
เนื่องจากปริมาณขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ
ปีทั้งขยะที่ย่อยสลายได้พวกเศษอาหารและขยะอินทรีย์ รวมถึงขยะที่ย่อยสลายยากเช่น
ขยะพลาสติกโดยหากนำไปฝังกลบต้องใช้เวลากว่า 500 ปีกว่าจะย่อยสลาย
โดยกรมควบคุมมลพิษระบุว่าประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณปีละ 2.7 ล้านตันและมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆแต่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้เพียงปีละ 0.7
ล้านตันหรือประมาณร้อยละ26 ที่เหลือเป็นการทำลายด้วยการฝังกลบหรือเผาทิ้ง
ซึ่งทำให้เกิดมลภาวะกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
หากเรามาลองดูโครงสร้างทางเคมีของขยะพลาสติกพบว่ามีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนเช่นเดียวกับน้ำมันเชื้อเพลิง
และเราจะพบโครงสร้างของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนแบบนี้ในขยะที่ทำจาก โพลิเมอร์ เช่น
พลาสติก ยางสังเคราะห์ที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของยางรถยนต์
โดยเม็ดพลาสติกที่นำมาขึ้นรูป นั้นทำมาจากปิโตรเลียม
ที่ผ่านกระบวนการพอลิเมอไรเซชั่น (Polymerization) จึงขอเรียกรวมขยะเหล่านี้ว่า
“ขยะปิโตรเลียม” หรือเรียก “ขยะปิโตรเคมี” ก็ได้เช่นเดียวกัน
จึงเกิดปัญหาขึ้นว่าในเมื่อกำจัดหรือทำลายขยะพวกนี้แล้วจะทำให้เกิดมลภาวะเราจึงควรมีวิธีการอย่างไรที่จะใช้ประโยชน์จากขยะเหล่านี้
ซึ่งก็ไม่หมดหวังซะทีเดียวเนื่องจากในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงได้จากขยะปิโตรเลียมแล้ว
เทคโนโลยีที่นำมาใช้กับขยะปิโตรเลียม
เพื่อให้ได้พลังงานแปรรูปที่มีค่าความร้อนสูง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง นั้น
เรียกว่ากระบวนการ PGL ซึ่งย่อมาจาก กระบวนการย่อย 3 กระบวนการ คือ กระบวนการไพโรไลซิส(Pyrolysis)
กระบวนการแก๊สซิฟิเคชั่น(Gasification) และกระบวนการลิควิแฟกชั่น(Liquefaction)
แต่กระบวนการที่มีความน่าสนใจสำหรับหัวข้อนี้คือ
กระบวนการไพโรไลซิส(Pyrolysis) ซึ่งจะให้ก๊าซและน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผลิตภัณฑ์
โดยกระบวนการนี้เป็นการให้ความร้อนเพื่อการแตกตัวหรือสลายตัวของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เป็นองค์ประกอบของขยะปิโตรเลียมให้มีโมเลกุลที่เล็กลงที่อุณหภูมิ
400-500 องศาเซลเซียส ภายใต้สภาวะไร้ออกซิเจน
โดยจะได้ผลิตภัณฑ์ ดังนี้ 1. ก๊าซที่มีคุณสมบัติคล้ายก๊าซธรรมชาติ
2. ของเหลว คือ น้ำมันเชื้อเพลิงที่ประกอบไปด้วย น้ำมันก๊าด
น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา และน้ำมันหนัก ผสมรวมกันอยู่ 3. ของแข็ง คือ ถ่านชาร์ หรือ Carbon black สามารถนำไปทำถ่านอัดแท่งเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงได้
สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากกระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis)
นั้นต้องไปกลั่นและปรับปรุงคุณภาพอีกครั้งหนึ่งก่อนเนื่องจากมีน้ำมันหลายชนิดปนกันอยู่และอาจมีสารแปลกปลอมเช่น
กรด โลหะหนัก หรือกำมะถัน ซึ่งจะทำให้เครื่องยนต์น๊อคได้
โดยเมื่อนำไปกลั่นแยกอีกครั้ง จะได้น้ำมันดีเซลในอัตราส่วนที่สูง
โดยน้ำมันที่ได้จากพลาสติกจะมีคุณภาพสูงกว่ายางรถยนต์เนื่องจากมีกำมะถันน้อยกว่าและค่าซีเทนที่สูงกว่า
แต่ก่อนอื่นที่จะทำให้ระบบของการกำจัดขยะสมบูรณ์และนำมาทำเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้นั้นภาครัฐได้ประสบความยุ่งยากในการแยกประเภทของขยะมูลฝอยเป็นอย่างมากเพราะประชาชนทิ้งขยะแบบถังเดียวในแต่ละบ้านและทิ้งรวมๆกัน
เพราะฉะนั้นแล้วพวกเราควรฝึกนิสัยที่ดีในการแยกขยะเสียก่อน
หากทุกคนช่วยกันอนาคตอันสดใสด้านพลังงานที่ยั่งยืนจะรอทุกคนอยู่อย่างแน่นอน