27 กันยายน 2559

: มหันตภัย "ไดอ๊อกซิน"

ไดอ๊อกซินคืออะไร?
     ไดอ๊อกซิน (dioxins) เป็นผลิตผลทางเคมีที่เกิดขึ้นมาโดยมิได้ตั้งใจผลิต (unintentionalproducts) จากกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เป็นสารประกอบในกลุ่มคลอริเนตเตทอะโรเมติก (chlorinated aromatic compounds) ที่มีออกซิเจน(O) และคลอรีน(Cl) เป็นองค์ประกอบ 1 ถึง 8 อะตอม ไดอ๊อกซินมีชื่อเรียกเต็ม คือ โพลี่คลอริเนตเตท ไดเบนโซ่ พารา-ไดอ๊อกซิน (polychlorinated dibenzo-para-dioxins : PCDDs) สารในกลุ่มไดอ๊อกซินมีทั้งหมด 75 ชนิด สารประกอบที่คล้ายคลึงกับกลุ่มไดอ๊อกซินอีกกลุ่มหนึ่ง คือ “ฟิวแรน (furans) หรือมีชื่อเรียกเต็มว่า โพลีคลอริเนตเตท ไดเบนโซ่ ฟิวแรน (polychlorinated dibenzo furans : PCDFs) มีอยู่ 135 ชนิด สารฟิวแรน (PCDFs) แตกต่างจากกลุ่ม "ไดอ๊อกซิน(PCDDs)" ก็โดยมีออกซิเจนน้อยกว่าอยู่ 1 อะตอม โดยทั่วไปนักวิชาการมักเรียกรวมและรู้จักกันทั่วว่า "ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน" หรือ “PCDDs/PCDFs” เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากทั้งด้านคุณสมบัติ ความเป็นพิษ และแหล่งกำเนิด สารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน สามารถผลิตขึ้นมาได้จากปฏิกิริยาเคมีระหว่างสาร 4,5-dichlorocatechol และ สาร 2,5-dinitro-1,4-dichlorobenzene ทั้งนี้เพื่อใช้สำหรับการศึกษาและเป็นสารมาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์เท่านั้น และยังไม่เคยมีรายงานจากแหล่งใดๆ ว่าผลิตมาเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ



โครงสร้างของไดอ๊อกซินและฟิวแรน

2,3,7,8 Tetrachloro dibenzo dioxin
(2,3,7,8 Tetra CDD)

-----------------------------------------

2,3,7,8 Tetrachloro dibenzo
(2,3,7,8 Tetra CDF)


ชนิดของสารไดอ็อกซิน/ฟิวแรน

     สารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน มีทั้งหมด 210 ชนิด (75+135) ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่สารคลอรีน (Cl) ไปประกอบอยู่บนวงแหวนเบนซีน (benzene ring) สาร 210 ชนิดนี้ส่วนใหญ่ไม่มีผลร้ายกับสุขภาพมนุษย์มากนักมีอยู่เพียง 17 ชนิด เท่านั้นที่มีรายงานว่ามีพิษร้ายแรงและเป็นอันตรายต่อมนุษย์ คือ 1) 2,3,7,8-TetraCDD, 2)1,2,3,7,8-PentaCDD, 3)1,2,3,4,7,8-HexaCDD, 4)1,2,3,6,7,8-HexaCDD, 5)1,2,3,7,8,9-HexaCDD, 6)1,2,3,4,6,7,8-HeptaCDD, 7)OctaCDD, 8)2,3,7,8-tetraCDF, 9)1,2,3,7,8-PentaCDF, 10)2,3,4,7,8-PentaCDF, 11)1,2,3,4,7,8-HexaCDF, 12)1,2,3,6,7,8-HexaCDF, 13)1,2,3,7,8,9-HexaCDF, 14)2,3,4,6,7,8-HexaCDF, 15)1,2,3,4,6,7,8-HeptaCDF, 16)1,2,3,4,7,8,9-HeptaCDF, 17)OctaCDF และชนิดที่มีพิษร้ายแรงที่สุดก็คือ 2,3,7,8-TCDD

     การตรวจวัดปริมาณความเข้มข้นของสารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน หรือ PCDDs/PCDFs ที่ปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมจะทำการวัดกันในระดับที่ต่ำมากๆ กว่าสารพิษชนิดอื่นใดโดยจะนิยมวัดกันที่ระดับ นาโนกรัม (nanogram, ng) หรือ 0.000000001 g หรือ 10-9 g และที่ระดับ พิโคกรัม (picogram, pg) หรือ 0.000000000001 g หรือ 10-12 g ต่อ น้ำหนักดิน 1 กิโลกรัม(kg) หรือปริมาตรอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร(m3)หรือ น้ำ 1 ลิตร ( l )


ความเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (หนูและกระต่าย)

พิษเฉียบพลัน
    ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน ไม่ทำให้เกิดอาการพิษหรือตายอย่างทันทีแต่อาการจะค่อยๆ เกิดและเพิ่มความรุนแรงจนถึงตายได้ อาการเฉียบพลันที่ปรากฏคือ ทำให้เกิดโรคผิวหนังที่เรียกว่า “Chloraone” คือมีผิวหนังขึ้นเป็นสิวหัวดำ มีถุงสีน้ำตาลอมเหลืองของผิวหนังบริเวณหลังใบหู ขอบตา หลัง ไหล่ และบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ อาจมีขนขึ้นในบริเวณที่ปกติจะไม่มีขึ้น ผิวหนังมีสีเข้มขึ้น สีของเล็บเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เยื่อบุตาอักเสบและมีขี้ตา
    มีรายงานการเกิดอาการ“Chloraone” นี้ในคนที่อยู่ในบริเวณที่ได้รับการปนเปื้อน ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน ที่อิตาลี ไต้หวัน และญี่ปุ่น

พิษเรื้อรัง
   ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน ทำให้น้ำหนักตัวลดลง เกิดความผิดปกติที่ตับ เซลล์ตับตาย และเกิดอาการโรคผิวหนังอักเสบ

การเป็นสารก่อมะเร็ง
     สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างชาติได้จัดให้สาร ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์จากการที่มีข้อมูลทางระบาดวิทยายืนยัน และจากการศึกษาระยะยาวในสัตว์ทดลองพบว่า สารนี้ทำให้เกิดมะเร็งหรือเนื้องอกในอวัยวะต่างๆ ของหนูโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตับ ซึ่งได้รับสารปริมาณน้อยมากแค่ 10 นาโนกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัวเท่านั้น นอกจากตับแล้วยังพบว่าสารนี้ทำให้เกิดเป็นเนื้องอกในอวัยวะต่างๆ ของหนูได้ เช่น ลิ้นแผ่นกั้นช่องจมูก เพดานปากส่วนแข็ง ต่อมไทรอยด์ ชั้นนอกของต่อมหมวกไต ชั้นใต้ผิวหนัง และปอด ต่อมไทรอยด์เป็นตำแหน่งไวที่สุดที่ทำให้เกิดมะเร็งในหนู ซึ่งระดับไดอ๊อกซินต่ำที่สุดที่ได้รับคือ 1.4 นาโนกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว อย่างไรก็ตามการศึกษากลไกของการเกิดมะเร็งพบว่าสารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน ไม่ใช่สารก่อเซลล์มะเร็งโดยตรง (tumor initiator) หรือถ้าเป็นก็มีฤทธิ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เป็นสารสนับสนุนการเกิดมะเร็ง (tumor promotor) ที่มีความรุนแรงมากที่สุด

ความเป็นพิษต่อระบบประสาท
     มีรายงานว่าเกิดโรคระบบประสาทในคนงานที่ได้รับสารนี้จากการหกรดหรือปนเปื้อนในอุตสาหกรรม โดยมีอาการกล้ามเนื้อมือเสื่อมไม่มีกำลัง มีการแสดงอาการโรคประสาท เช่น การสูญเสียความรับรู้บนเส้นประสาท ปลายมือ และปลายเท้าอ่อนเพลีย เป็นต้น สำหรับหนูทดลองพบว่า ขาหน้าไม่มีแรงในการจับยึด เดินหมุนเป็นวง ไม่สามารถไต่กรงได้และความรับรู้ผิดปกติ

ความเป็นพิษต่อภูมิคุ้มกัน
     การศึกษาทางระบาดวิทยาของคนพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของระดับภูมิคุ้มกันบางชนิดในบางกลุ่มคนที่ ได้รับสารไดอ๊อกซินจากอุบัติการณ์การปนเปื้อน เช่น ที่อิตาลีและที่รัฐมิสซูรี่ สหรัฐอเมริกา

ความผิดปกติต่อการสืบพันธุ์ 
      สารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในกระแสเลือดซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์ทดลองและปริมาณของสาร ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ของสัตว์เพศผู้และเพศเมีย ลักษณะทั่วไปในเพศเมียคือการผสมติดของสัตว์ลดลงหรือไม่สามารตั้งท้องได้จนครบกำหนด จำนวนลูกต่อครอกลดลง การทำงานของรังไข่ผิดปกติหรือไม่ทำงาน วงจรของระดูหรือการเป็นสัดผิดปกติ และมีเนื้อเยื่อบุมดลูกเจริญเติบโตภายนอกมดลูก
     ในเพศผู้พบว่าสารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน ทำให้น้ำหนักของอัณฑะและอวัยวะอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ลดลง อัณฑะมีรูปร่างผิดปกติ การสร้างเชื้ออสุจิลดลง และการผสมติดลดลง สัตว์ที่มีความไวต่อสารได้แก่ ลิงและหนูชนิดต่างๆ ระดับต่ำสุดที่ 1 ไมโครกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/วัน และได้รับต่อเนื่องกันนาน 13 สัปดาห์ ทำให้การสร้างอสุจิลดลง

ความผิดปกติในทารก
     จากการศึกษาสัตว์ทดลองตัวเมียและผลการศึกษาทางระบาดวิทยาของคนที่ประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันพบว่าสารนี้มีความเป็นพิษต่อการพัฒนาตัวอ่อนหรือทารกซึ่งมีผลกระทบ 3 รูปแบบคือ 1) ทำให้ตัวอ่อน/ทารกผิดปกติและตายก่อนครบกำหนด 2) ทำให้ทารกมีโครงสร้างผิดปกติ 3) ทำให้การทำงานของอวัยวะและเนื้อเยื่อบางชนิดผิดปกติ
     การศึกษาในมารดาพบว่าการได้รับสารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรนที่ปนเปื้อนในน้ำมันรำข้าวที่ประเทศจีนทำให้มีอัตราการตายของทารกในช่วงตั้งครรภ์สูง ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ปกติซึ่งแสดงถึงการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าปกติของทารก ทารกบางรายเกิดมามีรูปร่างผิดปกติ ที่เกาะไต้หวันพบว่าทารกที่เกิดมามีอาการผิดปกติของระบบประสาท มีการพัฒนาทางสติปัญญาช้ากว่าปกติและมีพฤติกรรมประสาทผิดปกติ
     ลักษณะผิดปกติที่เด่นชัดของทารกในครรภ์คือผิวหนังและเยื่อบุมีสีเข้มกว่าปกติ เล็บมือและเท้ามีสีเข้มและผิดรูปผิดร่าง ขับสารออกมากกว่าปกติ เยื่อบุตาอักเสบ เหงือกมีการบวมขยายใหญ่ ทารกแรกเกิดมีฟันขึ้นแล้ว การขึ้นของฟันแท้ผิดปกติหรือไม่มีฟันแท้ขึ้น และรากฟันมีรูปร่างผิดปกติ ลักษณะของฟันที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติก็พบได้ในทารกที่ดื่มน้ำนมมารดาที่มีสารไดอ็อกซิน/ฟิวแรน ปนเปื้อนอยู่

การรับสารของมนุษย์
     ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน เป็นสารที่มีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมและละลายได้ดีในไขมันจึงสะสมได้ในสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบมากกว่าพืช เมื่อมนุษย์บริโภคพืชและสัตว์ก็จะได้รับสารนี้ด้วย ปริมาณของสารที่มนุษย์ได้รับแต่ละวันจึงขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่แต่ละคนบริโภคและปริมาณของสารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน ที่ปะปนอยู่ในอาหารแต่ละชนิด อาหารที่มีการปนเปื้อนมากตามลำดับคือ เนื้อ ผลิตภัณฑ์นม ปลา ไข่ ผักและผลไม้ นอกจากนี้มนุษย์ยังสามารถรับสารนี้ได้จากอากาศและน้ำ อีกด้วย
     แหล่งสำคัญที่ได้รับสารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน คือจากอาหาร สัตว์ทดลองมีความสามารถในการดูดซึมสารได้มากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณที่ได้รับ มนุษย์สามารถดูดซึมได้มากกว่าร้อยละ 87 ของปริมาณที่ได้รับ การดูดซึมทาง ผิวหนังพบว่าเกิดขึ้นได้น้อยกว่าทางปาก ส่วนการหายใจจะได้รับสารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน จากการใช้เตาเผาชนิดต่างๆ ซึ่งปล่อยอนุภาคที่มีสารนี้ปนเปื้อนอยู่ ดังนั้นการสูดอากาศที่มีเศษขี้เถ้าและฝุ่นที่มีสารนี้ปนเปื้อนอยู่จึงเป็นสาเหตุทำให้ ร่างกายได้รับสารนี้เข้าไป สารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน ที่อยู่ในลำไส้จะถูกดูดซึมผ่านทางระบบน้ำเหลืองเข้าสู่กระแสโลหิตและเคลื่อนย้ายเข้าสู่เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย โดยทั่วไปการแพร่กระจายสู่เนื้อเยื่อจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากมีการดูดซึมสู่กระแสโลหิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อเยื่อที่มีเลือดมาหล่อเลี้ยงมาก เช่น ต่อมหมวกไต หรือเนื้อเยื่อที่มีไขมันปริมาณมากเช่น กล้ามเนื้อ หลังจากนั้นจะไปสะสมอยู่มากที่สุดในตับและรองลงมาคือที่เนื้อเยื่อไขมัน นอกจากนั้นก็พบบ้างที่ไต สมอง ปอด หัวใจ ต่อมไทมัส และอัณฑะ สารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน สามารถสะสมอยู่ในร่างกายของมนุษย์และสัตว์เป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามสารนี้บางส่วนจะถูกเมทตาโบไลท์ภายในร่างกายและถูกขับออกทางปัสสาวะและน้ำดี ส่วนทางอุจจาระมีน้อยมาก

การสร้างและการปลดปล่อยสารไดอ็อกซิน/ฟิวแรน
     ดังที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นว่าสารกลุ่มนี้เกิดขึ้นในรูปของผลผลิตพลอยได้จากหลายกระบวนการและแพร่กระจายไปสู่สิ่งแวดล้อมในอีกลักษณะหนึ่งอาจจะมีปรากฎอยู่ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมในรูปของวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ สารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน เป็นสารที่มีความคงทนยาวนานในสิ่งแวดล้อมและสามารถเคลื่อนย้ายจากอากาศสู่ดิน จากดินสู่พืช หรือจากดินสู่น้ำโดยการชะล้างและเข้าสู่มนุษย์และสัตว์ต่อไป โดยปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำที่ใช้บริโภค
  1. กระบวนการผลิตเคมีภัณฑ์ ในกลุ่มนี้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประเภท คลอริเนตเตท ฟีนอล (chlorinated phenols) และตัวทำละลายที่มีสารคลอรีน (chlorinated solvents) นอกจากนี้ยังรวมอุตสาหกรรมผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
  2. กระบวนการเผาไหม้อุณหภูมิสูงทุกชนิด ในกลุ่มนี้รวมถึงเตาเผากากของเสียทุกชนิด เช่น เตาเผาขยะทั่วไป เตาเผาขยะสารอันตรายหรือกากอุตสาหกรรม เตาเผาขยะติดเชื้อ หรือของเสียจากโรงพยาบาล และเตาเผาศพ เผาซากสัตว์ การเผาไหม้เชื้อเพลิงที่เป็นทั้งของแข็ง และของเหลวและกระบวนการหลอมโลหะโดยใช้ความร้อนสูง
  3. กระบวนการทางชีวภาพซึ่งอาจมีการสร้างสาร PCDDs/PCDFs ขึ้นมา การย่อยสลายและการหมัก
  4. แหล่งกักเก็บต่างๆ เช่น บริเวณที่ทับถมด้วยกองขยะและดินซึ่งมีสาร PCDDs/PCDFs ปนเปื้อนสะสมอยู่เป็นเวลายาวนาน     
     อนึ่ง PCDDs/PCDFs อาจเกิดจากการผลิตสารประกอบประเภทคลอริเนตเตท ไฮโดร์คาร์บอนอีกหลายชนิด เช่น pentachlorophenol, polychlorinated biphenyls (PCBs), hexachlorobenzene นอกจากนี้การผลิตสารเคมีหลายชนิด ถึงแม้ว่าจะไม่ทำให้เกิด PCDDs/PCDFs แต่เมื่อสารเหล่านี้ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารอื่นๆ ก็อาจทำให้เกิด PCDDs/PCDFs ขึ้นได้ สารเหล่านี้เรียกว่า “สารตั้งต้น” (precursors) ซึ่งมีอยู่ 28 ชนิด คือ



วงจรการผลิตไดอ๊อกซินและฟิวแรน


การปลดปล่อยสู่น้ำ

      ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน เข้าสู่แหล่งน้ำได้จากการปล่อยน้ำเสีย การชะล้างจากบริเวณปนเปื้อนหรือจากผลิตภัณฑ์ ปนเปื้อน เช่น การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ประเภทออร์แกนโนคลอรีน (organochlorine) การทิ้งกาก ของเสีย ฯลฯ การปล่อยน้ำเสียจากอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการเกี่ยวกับการสร้าง PCDDs/PCDFs กล่าวคือ 1) น้ำเสียจากกระบวนการผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษ (pulp and paper) ที่มีการใช้สารคลอรีนในการฟอกสี 2) น้ำเสียจากกระบวนการผลิตเคมีภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสารคลอรีน 3) น้ำเสียจากอุตสาหกรรมฟอกย้อม เส้นใย หนัง ไม้ที่ใช้สีย้อมหรือน้ำยารักษาคุณภาพของวัตถุดิบที่มี PCDDs/PCDFs เจือปนอยู่ 4) น้ำเสียจากบ้านเรือนทั่วไป เช่น เครื่องซักผ้า และเครื่องล้างชาม เป็นต้น และ 5) น้ำเสียจากกิจกรรมการผลิตและสถานที่ของกิจกรรมที่มีการใช้สารหรือวัตถุดิบที่ ปนเปื้อนด้วย PCDDs/PCDFs เช่น สถานที่ผลิตและใช้สารคลอโรฟีนอล (chlorophenol) โรงเลื่อย สุสานรถยนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีน้ำมันหกรดอยู่ น้ำเสียจากเตาเผาขยะ เป็นต้น 


การปลดปล่อยสู่ดิน
     ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรนถูกปลดปล่อยไปสู่ดินได้โดยการทิ้งหรือการปลดปล่อยผลิตภัณฑ์ที่มี PCDDs/PCDFs ปนเปื้อนอยู่โดยตรงหรือสารนี้สะสมตัวอยู่ในดินโดยผ่านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น จากอากาศสู่ดินดังที่กล่าวแล้ว และสารที่สะสมอยู่ในดินก็จะผ่านเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร (food chain) และถูกดูดซึมเข้าสู่พืชและสัตว์ต่อไป PCDDs/PCDFs ในดินส่วนใหญ่โดยตรงมาจากผลิตภัณฑ์หรือกากของเสียจากสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สารรักษาเนื้อไม้ที่มี PCDDs/PCDFs ปนเปื้อน การนำเอากากของเสียไปใช้ในพื้นที่เกษตร และการนำกากของเสียที่มี PCDDs/PCDFs ปนเปื้อนไปกองทิ้งไว้ เป็นต้น

การปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์
     ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรนในผลิตภัณฑ์นี้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารประกอบประเภทออร์แกนโนคลอรีนโดยตรงและผลิตภัณฑ์ที่ใช้คลอรีนในกระบวนการ เช่น กระดาษและเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนสูง เช่น พวกคลอริเนตเตท ฟีนอล และอนุพันธ์ เช่น pentachlorophenol (PCP), 2,4,5-trichlorophenoxyacetic acid (2,4,5 –T หรือที่รู้จักกัน ทั่วไปว่า “ฝนเหลือง และ polychlorinated biphenyls (PCBs) ที่ใช้ใน หม้อแปลงไฟฟ้า และ ตัวเก็บประจุไฟฟ้า ประเทศเยอรมนีได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ปริมาณสาร PCDDs/PCDFs ในผลิตภัณฑ์เคมีและผลิตภัณฑ์สิ่งทอหลายชนิด (ตารางที่ 1 และตารางที่ 2) พบว่าสาร pentachlorophenol เป็นสารที่มีการปนเปื้อน PCDDs/PCDFs สูงสุดถึง 2,320 (g.I-TEQ (g = ng x 1,000)


การปลดปล่อยสู่อากาศ
     ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน เข้าสู่บรรยากาศจากแหล่งต่างๆ ทั้งที่เป็นแหล่งคงที่ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการอุตสาหกรรมหรือแหล่งที่ไม่คงที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสาร PCDDs/PCDFs เจือปนอยู่ PCDDs/PCDFs จากทั้งสองแหล่งนี้สามารถอยู่คงที่หรือเคลื่อนย้ายไปได้เป็นระยะทางไกลมากจึงสามารถตรวจวัดได้ทั่วไปแม้แต่จากแหล่งต่างๆ ซึ่งอยู่ห่างไกลมากๆ จากแหล่งที่ปลดปล่อย 
     ตัวอย่างของกระบวนการที่ปลดปล่อย PCDDs/PCDFs ไปสู่อากาศเช่น กระบวนการเผาไหม้ กระบวนการผลิตโลหะและหลอมโลหะ กระบวนการปิ้งหรือย่าง ตู้อบควัน อุตสาหกรรมที่ใช้ความร้อนสูง เป็นต้น โอกาสที่จะมีการสร้างและปลดปล่อย PCDDs/PCDFs สู่บรรยากาศสามารถเกิดขึ้นได้ในสภาวะใดสภาวะหนึ่งหรือหลายๆสภาวะร่วมกันคือ 
1) กระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์เมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 200 องศาเซลเซียส
2) มีสารพวกอินทรีย์คาร์บอน (organic carbon) 
3) มีสารคลอรีน (chlorine, Cl)
4) ผลิตภัณฑ์ที่มีสาร PCDDs/PCDFs ปะปนอยู่


การปลดปล่อย PCDDs/PCDFs จากเตาเผาอุณหภูมิสูง
       เตาเผา (incinerator) ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเตาเผาขยะชุมชน (municipal waste incinerator) เตาเผาขยะอันตราย (hazardous waste incinerator) เตาเผาขยะติดเชื้อหรือเตาเผาขยะโรงพยาบาล (medical or hospital waste incinerator) และเตาเผาศพ (crematoria) นับเป็นแหล่งสำคัญที่ปลดปล่อย PCDDs/PCDFs ปริมาณมากน้อยขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำเข้าไปเผาซึ่งจะต้องมีส่วนประกอบในสภาวะใดสภาวะหนึ่งหรือหลายๆ สภาวะทั้ง 4 ดังกล่าวแล้วในการเผาที่มีวัสดุใน 3 สภาวะคือ มีสารพวกอินทรีย์คาร์บอน มีสารคลอรีนและมีผลิตภัณฑ์ที่มีสาร PCDDs/PCDFs ปะปนอยู่ จะสามารถผลิตหรือปลดปล่อย PCDDs/PCDFs สู่บรรยากาศได้ ต้องมีตัวแปรหรือสภาวะที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคืออุณหภูมิในการเผาไหม้ 
     การสร้างหรือผลิต PCDDs/PCDFs จากการเผาไหม้จะอยู่ในช่วงอุณหภูมิประมาณ 200-550 องศาเซลเซียส ความเข้มข้นสูงสุดของ PCDDs/PCDFs จะมีอยู่ในก๊าซและเถ้า (ash) ที่อยู่ในปล่องที่อุณหภูมิประมาณ 350 องศาเซลเซียส ความเข้มข้นจะลดลงต่ำสุดเมื่ออุณหภูมิลดลงหรือเพิ่มขึ้นที่ประมาณ 275 และ 420 องศาเซลเซียส ตามลำดับแต่ก็ยังมีสารนี้อยู่ในปริมาณต่ำในช่วง 200-275 องศาเซลเซียสและสูงกว่า 420-550 องศาเซลเซียส โมเลกุลของ PCDDs/PCDFs จะเริ่มถูกทำลาย (break down) เมื่ออุณหภูมิ 850 องศาเซลเซียสขึ้นไปและจะถูกทำลายเกือบสมบูรณ์เมื่ออุณหภูมิขึ้นไปถึง 1,100 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 วินาที อย่างไรก็ตาม PCDDs/PCDFs จะไม่ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงเพราะเมื่ออุณหภูมิลดลงก็จะสร้างขึ้นมาใหม่อีก 
     การสร้างหรือผลิต PCDDs/PCDFs จะมีปริมาณสูงสุดในช่วงของกระบวนการเริ่มเผาด้วยเชื้อเพลิง ถ้าเชื้อเพลิงมีปริมาณสารคลอรีน (Cl) ต่ำความเข้มข้นก็จะต่ำด้วย ในสภาวะการเผาไหม้ที่คงที่ซึ่งเป็นผลมาจากการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ของก๊าซในปล่อง PCDDs/PCDFs ก็เกือบจะถูกทำลายหมดในห้องเผา แต่ในทางตรงข้ามก๊าซในปล่องที่ไม่ถูกเผาไหม้เนื่องจากสภาวะการเผาไหม้ไม่คงที่จะเป็นผลให้มีความเข้มข้นของ PCDDs/PCDFs สูงในก๊าซที่ออกมา ในอีกส่วนหนึ่งที่ PCDDs/PCDFs ถูกสร้างขึ้นก็คือในส่วนที่เป็นหม้อไอน้ำ (boiler) ซึ่งจะมีการสะสมตัวของกากขี้เถ้าลอย (fly ash) อยู่ในบริเวณนี้ ดังนี้เตาเผาที่มีประสิทธิภาพสูงและกำจัด PCDDs/PCDFs ได้สูงสุดดีกว่ามาตรฐานที่กำหนดก็จะต้องมีอุปกรณ์ที่เผาก๊าซอย่างสมบูรณ์และประกอบด้วยอุปกรณ์กำจัดสารพิษต่างๆ ในก๊าซในปล่องและเถ้าลอย (fly ash) อุปกรณ์นี้เรียกว่า “ เครื่องทำความสะอาดก๊าซ (flue gas cleaner) เมื่อมีการทำความสะอาดดังกล่าวแล้ว ส่วนที่เหลือจากกระบวนการเผาซึ่งเป็น “ เถ้าหนัก (bottom ash) “หรือ” เถ้าลอย (fly ash) “ ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมอื่นๆ ได้ เช่น นำไปใช้ในการก่อสร้างโดยไม่มีอันตรายจากสารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน

ทำเนียบ (inventory) การปลดปล่อย PCDDs/PCDFs ในประเทศต่างๆ


   ประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศได้จัดทำปริมาณการปลดปล่อยสาร PCDDs/PCDFs ในแต่ละปีและได้มีการทำรายงานรวบรวมไว้ได้จาก 14 ประเทศในปี พ.ศ. 2538 พบว่ามีการปลดปล่อยจาก 14 ประเทศ (ภาพที่ 1) ประมาณ 9,700 g. I-TEQ ต่อปี โดยเตาเผาขยะต่างๆ เป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก อังกฤษ เบลเยี่ยม และจีน ส่วนประเทศสวีเดน เยอรมนี ออสเตรีย และออสเตรเลีย ส่วนใหญ่มาจากแหล่งกำเนิดประเภทโรงหลอมโลหะต่างๆ





สำหรับประเทศเยอรมนีซึ่งปลดปล่อย PCDDs/PCDFs จำนวน 333 g.I-TEQ ต่อปี (ตารางที่ 3 ) นั้น อุตสาหกรรมหลอมโลหะนับว่าปลดปล่อยมากที่สุดถึง 168 g.I-TEQ/ปี รองลงมาก็คืออุตสาหกรรมหลอมโลหะประเภท non-ferrous (91.6 g.I-TEQ/ปี) และเตาเผาขยะชุมชน (30 g.I-TEQ/ปี)





กลไกทางกฎหมายควบคุมไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน
     จากการที่ PCDDs/PCDFs เป็นสารที่มีความเป็นพิษสูงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์แม้ในปริมาณน้อยมาก ประเทศต่างๆ จึงได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์และมาตรฐานต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการควบคุม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้กำหนดไว้ให้มนุษย์สามารถรับสาร PCDDs/PCDFs ในแต่ละวันได้ไม่เกิน 0.04 นาโนกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดความเข้มสูงสุดในน้ำดื่มที่ 0.03 นาโนกรัมต่อลิตร ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีกำหนดความเข้มข้นในน้ำนมไม่ให้เกิน 0.9 นาโนกรัม (ng.I-TEQ) ต่อปริมาณไขมัน 1 กิโลกรัม และถ้าพบว่ามีค่าเกิน 5.0 ng.I-TEQ ก็จะไม่อนุญาตให้มีการจำหน่ายและทำลายผลิตภัณฑ์นมนั้นๆ เสีย
     สำหรับมาตรฐานการปลดปล่อยสารสู่บรรยากาศนั้น เนื่องจากเตาเผาอุณหภูมิสูงเกือบทุกชนิดเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญที่สุด ประเทศต่างๆ ที่เจริญแล้วทั่วโลก จึงมีการกำหนดค่ามาตรฐานการปลดปล่อย PCDDs/PCDFs ไว้เป็นปริมาณ “นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของปริมาตรอากาศ” (ตารางที่ 6) การกำหนดมาตรฐานส่วนใหญ่จะใช้หน่วยเดียวกันคือ “นาโนกรัม (nanogram)” หรือมีค่าเท่ากับ 10 –9 g. ซึ่งจะเป็นผลการวัดสาร PCDDs และ PCDFs แต่ละตัว แล้วนำค่าที่วัดได้ไปคูณด้วยค่าเปรียบเทียบความเป็นพิษหรือ “International Toxicity Equivalent Factor (I-TEF)” (ตารางที่ 5 ) แล้วนำผลบวกของแต่ละค่าออกมาเป็นปริมาณ PCDDs/PCDFs ทั้งหมดต่อปริมาณอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตรหรือ Nm (Normalized cubic meter) และเรียกค่านี้ว่า “ ….ng.I-TEQ/Nm “สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกามีการตรวจวัดและกำหนดค่ามาตรฐานเป็นค่ารวม (total) ทั้งหมดของ PCDDs และ PCDFs ที่วัดจริงโดยมิได้นำค่าเปรียบเทียบความเป็นพิษ (I-TEF) มาคูณ ค่าที่ออกมาจึงสูงกว่าค่ามาตรฐานของประเทศต่างๆ ในยุโรปและเอเชียบางประเทศ ค่ามาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกว่า “ ….ng.total/Nm “ ประเทศไทยได้นำระบบของประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้เป็นค่ามาตรฐานสำหรับเตาเผาขยะชุมชนในปัจจุบันนี้เช่นกัน



ระบบเตาเผาขยะสารอันตรายและขยะโรงพยาบาลที่ใช้เทคโนโลยีดีที่สุด (Best Available Technology หรือ BAT)
     เตาเผาที่สมบูรณ์แบบในด้านเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพในการเผา การใช้ประโยชน์และกำจัดมลพิษที่สำคัญต่างๆ (ภาพที่ 2) ได้ จะต้องประกอบด้วยส่วนต่างๆ ซึ่งทำงานเป็นระบบอัตโนมัติ คือ

1.ส่วนที่จะป้อนขยะเข้าเตาเผา ซึ่งมีระบบแยกกันตามประเภทของขยะกล่าวคือ เป็นของแข็ง ของเหลว ของแข็งหรือของเหลวเป็นพิษชนิดต่างๆ โดยระบบอัตโนมัติหรือระบบสายพาน ใช้มนุษย์จับต้องน้อยที่สุด พนักงานควบคุมการป้อนขยะต้องมีความรู้ความชำนาญอย่างดี

2.ส่วนที่เป็นเตาเผา ซึ่งอาจจะเป็นระบบตะแกรงนอน (stroker type) หรือระบบเตาหมุน (rotary kiln) จะต้องมีอุณหภูมิสูง 900 องศาเซลเซียสขึ้นไป ปกติแล้วเตาเผาขยะพิษหรือขยะอันตรายต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 1,200 องศาเซลเซียส ขึ้นไป จากนั้นก๊าซที่ถูกเผาไหม้จะผ่านไปห้องเผาที่ 2 หรือ “

3.ส่วนลดอุณหภูมิและการใช้ประโยชน์ ในส่วนนี้ก๊าซจากปล่องที่มีความร้อนสูงจะถูกลดอุณหภูมิลงจนถึงประมาณ 300 องศาเซลเซียส โดยหม้อไอน้ำ (boiler) ซึ่งส่วนนี้เองจะนำไอน้ำไปปั่นไฟใช้ประโยชน์ด้านพลังงานอย่างคุ้มค่า

4.ส่วนที่ทำให้ก๊าซแห้งและส่วนดูดฝุ่น ในส่วนนี้ก๊าซจากปล่อง (flue gas) จะถูกฉีดไอพ่นด้วยสารชะล้างและทำให้อุณหภูมิลดลงถึงประมาณ 180 องศาเซลเซียส ฝุ่นและเกลือแร่ต่างๆ ที่เกิดจากการระเหยจะถูกเก็บรวบรวมและผ่านเครื่องกรองอากาศ (electrostatic filter)

5.ส่วนที่กำจัดสารมลพิษต่างๆ จากก๊าซในปล่อง (flue gas cleaning) ในส่วนนี้จะติดตั้งระบบถุงกรอง (baghouse filter) และติดตั้งอุปกรณ์กำจัดสารพิษประเภทโลหะหนักและ PCDDs/PCDFs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีภาชนะบรรจุและฉีดพ่นสารเคมีที่สำคัญ 2 ชนิด คือ ปูนขาว (lime) และถ่าน (activated carbon) ซึ่งเป็นตัวแยกหรือกำจัดไดอ๊อกซินและฟิวแรน (PCDDs/PCDFs) รวมทั้งสารปรอทออกจากก๊าซในปล่องก่อนที่จะถูกปลดปล่อยสู่บรรยากาศต่อไป

6.ส่วนติดตามตรวจสอบมลพิษทางอากาศ ส่วนนี้จะติดตั้งอุปกรณ์แสดงคุณภาพอากาศที่ปลดปล่อยจากปล่องแบบอัตโนมัติและต่อเนื่อง สามารถเห็นได้จากจอที่ติดตั้งให้บุคคลทั่วไปดูได้ สารมลพิษที่สำคัญที่แสดงบนจอคือ ปริมาณฝุ่น CO, So 2 , No x และ HCl ส่วนโลหะหนักเช่น ตะกั่ว ปรอท และ PCDDs/PCDFs จะได้จากการวิเคราะห์ตัวอย่างเป็นระยะๆ โดยติดตั้งจุดเก็บตัวอย่างไว้เป็นการถาวร PCDDs/PCDFs ที่วัดได้จากเตาเผาที่มีเทคโนโลยีสูงเช่นนี้ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 0.0001 ng. I-TEQ/Nm 3

     เตาเผาขยะอันตรายหรือขยะโรงพยาบาลที่ไม่ได้ติดตั้งระบบกำจัดสารมลพิษจากก๊าซในปล่อง (flue gas cleaning) จะสร้างและปลดปล่อย PCDDs/PCDFs ออกมาสูงกว่ามาตรฐานมาก (ตัวอย่างผลการวิเคราะห์ในตารางที่ 7) ถึงแม้ว่าอุณหภูมิที่ใช้ในการเผาไหม้สูงกว่า 900 องศาเซลเซียสแล้วก็ตาม



 ผลรวมของ PCDDs/PCDFs ทั้งหมดตามวิธีคิดแบบสหรัฐอเมริกา (ng.total/Nm)
ผลการวัดแบบเปรียบเทียบค่าความเป็นพิษตามวิธีของยุโรปและประเทศอื่นๆ (ng.I-TEQ/Nm)

ระบบเตาเผาศพ (crematoria) ที่ใช้เทคโนโลยีดีที่สุด (BAT)
เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกในปัจจุบันแล้วว่าการเผาศพนอกจากจะเป็นพิธีการสุดท้ายระบบหนึ่งที่กระทำต่อผู้เสียชีวิตแล้วก็ยังมีผลกระทบด้านสุขภาพอนามัยของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ นั่นก็คือการปลดปล่อย PCDDs/PCDFs จากกระบวนการเผาไหม้นั่นเอง องค์การอนามัยโลกได้พยายามสร้างความตระหนักให้มนุษยชาติได้เล็งเห็นถึงประเด็นปัญหานี้ในรูปแบบต่างๆ เนื่องจากพิธีการเผาศพผู้เสียชีวิตนับวันจะเพิ่มขึ้นตามลำดับในหลายๆประเทศทั่วโลก นอกเหนือจากพิธีการที่มีความแตกต่างกันออกไปตามความนิยมและประเพณีของศาสนาแต่ละประเทศแล้ว ระบบของพิธีการสุดท้ายที่นำร่างกายไปเผาจนเหลือแต่เถ้าถ่านนั้นก็เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างมากกับเทคโนโลยี สุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมรวมไปถึงธุรกิจและปัญหาสังคม อันเนื่องมาจากพิษภัยของไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน (PCDDs/PCDFs)” มีข้อสงสัยคือ PCDDs/PCDFs ออกมาจากการเผาศพได้อย่างไรและมีปริมาณเท่าใด และมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่อย่างไร
คำตอบด้านผลกระทบต่อมนุษย์นั้นไม่แตกต่างไปจาก PCDDs/PCDFs ที่ถูกปลดปล่อยมาจากแหล่งกำเนิดอื่นๆ ดังที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นและเกี่ยวโยงกับปริมาณของ PCDDs/PCDFs ที่ปลดปล่อยออกมาซึ่งขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีของเตาเผาและวิธีการปฏิบัติงานของอุปกรณ์และมนุษย์ผู้ควบคุมการเผา ส่วนการสร้าง PCDDs/PCDFs นั้นเป็นที่เข้าใจดีแล้วว่ามีสภาวะหรือปัจจัยหลัก 4 สภาวะคือ

หนึ่ง อุณหภูมิสูงกว่า 200 องศาเซลเซียส

สอง มีสารพวกอินทรีย์คาร์บอนซึ่งมาจากโลงศพ สีทาโลงศพและวัสดุประดับอื่นๆ รวมทั้งดอกไม้จันทน์และเชื้อเพลิงอื่น

สาม จาก ผลิตภัณฑ์ที่มีสาร PCDDs/PCDFs ปะปนอยู่ สารนี้อาจจะปะปนอยู่ในสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ที่ใช้รักษาเนื้อไม้ก่อนที่จะนำมาประกอบเป็นโลงศพ และสารประเภทออร์แกนโนคลอรีนซึ่งสะสมอยู่ในไขมันของร่างผู้กำลังจะถูกเผาเอง และ

สี่ มีสารคลอรีน (Cl) ในกระบวนการเผา สาร Cl เป็นตัวการสำคัญที่สุดภายใต้สภาวะการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์
สาร Cl มาจากทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีสาร PCDDs/PCDFs ปนเปื้อนอยู่ มาจากพลาสติกประเภท PVC (Polyvinyl Chloride) ที่ใช้ในโลงศพและบางรายใช้ห่อหุ้มศพ สุดท้ายร่างกายของผู้กำลังจะถูกเผาเองถึงแม้ว่าปราศจากเสื้อผ้าอาภรณ์หรืออุปกรณ์เครื่องประกอบอื่นๆ ดังกล่าวมาแล้วร่างกายของมนุษย์ก็ยังคงมีสาร Cl อยู่ในปริมาณสูงคือจาก ไขมันในร่างกายมีการศึกษาว่าร่างกายยิ่งอายุมาก อ้วนมาก ก็จะมีสาร Cl มากไปด้วย และสิ่งที่ร่างกายมนุษย์ไม่เคยขาดไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตแล้ว ร่างแห้งเหี่ยวแค่ไหนก็ยังมีเกลือตกค้างอยู่ในร่างกายทุกคน เกลือหรือที่เราทราบกันในภาษาทางเคมีก็คือ โซเดียมคลอไรด์ (NaCl) และสารประกอบคลอไรด์อื่นๆ สรุปแล้วตัวการสำคัญก็คือมีสารคลอรีน (Cl) นั่นเอง


         การเผาศพและเตาเผาศพ (crematoria) ที่ดีมีประสิทธิภาพในการกำจัด PCDDs /PCDFs (ภาพที่ 3 และภาพที่ 4) มีคุณลักษณะ อุปกรณ์และการดำเนินงานคล้ายคลึงกับเตาเผาอื่นๆ ดังกล่าวมาแล้ว คือต้องมีส่วนที่ป้อนศพเข้าเผามีส่วนที่เป็นห้องเผาที่แยกเป็นห้องเผาศพและเผาก๊าซ (after burning chamber) ส่วนที่จะใช้ประโยชน์จากความร้อน ส่วนที่จะทำให้ก๊าซแห้งและดูดฝุ่น ส่วนที่ติดตามตรวจสอบสารมลพิษและที่สำคัญที่สุดก็คือส่วนที่กำจัดสาร PCDDs/ PCDFs และโลหะหนักอื่นๆ (flue gas cleaning) ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดในประเทศต่างๆ(0.1 ng. I-TEQ/Nm 3) สำหรับเตาเผาที่ปราศจากส่วนที่กำจัดสาร PCDDs/PCDFs นั้นจะมีสารพิษดังกล่าวออกมาสูงกว่ามาตรฐานหลายเท่า ซึ่งเคยมีผลการวิเคราะห์จากเตาเผาศพ (ตารางที่ 8) เช่นนี้จากประเทศหนึ่งมาแล้ว




ผลรวมของ PCDDs/PCDFs ทั้งหมดตามวิธีคิดแบบสหรัฐอเมริกา (ng.total/Nm )
ผลการวัดแบบเปรียบเทียบค่าความเป็นพิษตามวิธีของยุโรปและประเทศอื่นๆ (ng.I-TEQ/Nm )

มาตรการควบคุม PCDDs/PCDFs ในระดับโลก
สืบเนื่องจากคณะมนตรีประศาสน์การโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP Governing Council) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2538 มีมติให้องค์กรระหว่างชาติดำเนินการพิจารณาแนวนโยบายมาตรการและแผนปฏิบัติ ในการจัดการสารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมซึ่งกำหนดไว้ในบทที่ 19 (Chapter 19) ตามแผนปฏิบัติเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมโลกในศตวรรษที่ 21 (Agenda 21) หนึ่งในแผนปฏิบัติได้กำหนดกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อลดการเสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants : POPs) เบื้องต้น12 ชนิด ทำให้กิจกรรมระหว่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจนการดำเนินการตามอนุสัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสารในกลุ่ม POPs มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไดอ๊อกซินและฟิวแรน (PCDDs และ PCDFs) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่ง สหประชาชาติ (UNEP) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีความเห็นสอดคล้องกัน คือ ต้องการให้มีกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อควบคุมการปลดปล่อยสาร POPs เบื้องต้น 12 ชนิดดังกล่าว โดยร่วมกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล เพื่อเตรียมกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศบังคับใช้สำหรับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยเน้นที่สาร POPs ทั้ง 12 ชนิด รวมทั้งศึกษาและพิจารณาสาร POPs อื่นนอกเหนือจาก 12 ชนิดที่กำหนดไว้แล้วด้วย
กลไกทางกฎหมายนี้ได้มีการพิจารณาและเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในการประชุม ทั้งหมด 5 ครั้ง ใช้เวลา 2 ปี 6 เดือน ตั้งแต่ พ.ศ. 2541-2543 โดยมีสมาชิกร่วมประชุมทั้งหมด 135 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศทั้งที่อยู่ภายใต้องค์การสหประชาชาติ องค์กรรัฐบาลระหว่างประเทศ และองค์กรมหาชน รวมทั้งสิ้นจำนวน 67 องค์กร บัดนี้ การประชุมเจรจาเสร็จสมบูรณ์แล้วและได้ประกาศใช้เป็นอนุสัญญาเรียกว่า “Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants “ ซึ่งได้มีการลงนามในอนุสัญญานี้ในการประชุมที่ประเทศสวีเดน ระหว่างวันที่ 21-23 พฤษภาคม 2544 มีสมาชิกประเทศต่างๆ ลงนามไปแล้ว 92 ประเทศ 1 องค์กร (ประชาคมยุโรป) และมี 2 ประเทศที่ลงนามให้สัตยาบันเข้าเป็นประเทศภาคีในวันเดียวกับที่ลงนามในอนุสัญญา 2 ประเทศคือ แล้ว คือ ประเทศแคนาดาและประเทศฟิจิ สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ลงนามแล้วได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม หลังจากนั้นจะเปิดให้ประเทศที่ยังไม่ได้ลงนามได้ลงนาม ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม 2544 ถึง 22 พฤษภาคม 2545 อย่างไรก็ตามอนุสัญญานี้ได้เปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ เข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติได้หลังจากที่อนุสัญญาได้ปิดการให้ลงนามแล้ว ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2545 เป็นต้นไป อนุสัญญาดังกล่าวจะมีการบังคับใช้ในวันที่เก้าสิบ (3 เดือน) หลังจากมีการส่งมอบสัตยาบันสาร ภาคยานุวัติสาร สารการยอมรับหรือสารการให้ความเห็นชอบฉบับที่ 50 และหลังจากอนุสัญญามีผลบังคับใช้แล้ว ประเทศที่ให้สัตยาบัน ภาคยานุวัติ ยอมรับ หรือให้ความเห็นชอบ จะเป็นภาคีก็ต่อเมื่อครบเก้าสิบวันนับจากวันที่ส่งมอบสารนั้นๆ ให้เลขาธิการสหประชาชาติ
      จุดมุ่งหมายของอนุสัญญาฯ คือ เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากสารมลพิษที่ ตกค้างยาวนาน สารเคมี POPs เบื้องต้น 12 ชนิดคือ อัลดริน (aldrin); คลอเดน (chlordane); ดีดีที (DDT) ; ดิลดริน (dieldrin); เอนดริน (endrin) ; เฮปตะคลอร์ (heptachlor) ; เอชซีบี (hexachlorobenzene) ; ไมเร็กซ์ (mirex); ท็อกซาฟีน (toxaphene); พีซีบี (Polychlorinated Biphenyls : PCBs); ไดอ๊อกซิน (Polychlorinated dibenzo-p-dioxins – PCDDs) และฟิวแรน (Polychlorinated dibenzofurans - PCDFs) สาร POPs เหล่านี้เป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ซึ่งถูกย่อยสลายได้ยากโดยแสงหรือสารเคมี หรือ โดยชีวภาพ ทำให้เกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานและสามารถเคลื่อนย้ายไปได้ไกลมาก มีคุณสมบัติละลายน้ำได้น้อยมากแต่ละลายได้ดีในไขมันจึงเป็นผลให้มีการสะสมในไขมันของสิ่งมีชีวิต มีความเป็นพิษสูง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต การเจ็บป่วย และความพิการแต่กำเนิดของมนุษย์และสัตว์ เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง อาการแพ้ และระบบประสาทไวต่อความรู้สึก ระบบประสาทส่วนกลางและรอบนอกถูกทำลาย ระบบการสืบพันธุ์บกพร่อง สาร POPs บางชนิดสามารถเปลี่ยนแปลงระบบฮอร์โมน ทำลายระบบการสืบพันธุ์และระบบภูมิคุ้มกัน

พันธกรณีสำคัญที่ภาคีต้องปฏิบัติ หลังจากที่อนุสัญญา POPs มีผลบังคับใช้แล้ว คือ

1. ใช้มาตรการทางกฎหมาย/การบริหารในการห้ามผลิตและใช้สาร POPs 9 ชนิดแรก

2. จะนำเข้า/ส่งออกสาร POPs ได้ก็เฉพาะตามวัตถุประสงค์ที่อนุญาตให้ทำได้ เช่น มีข้อยกเว้นพิเศษ เพื่อนำมาใช้เป็นสารกำจัดปลวก สารกำจัดแมลง สารเติมแต่ง สารละลาย เป็นต้น

3. ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการในการลดหรือเลิกการปล่อยสาร POPs จากกระบวนการผลิตภายใน 2 ปีหลังจากอนุสัญญา POPs บังคับใช้

4. ส่งเสริมการใช้สารทดแทน แนวปฏิบัติทางด้านสิ่งแวดล้อม และเทคนิคที่ดีที่สุด
5. ประกันว่า คลังสินค้าที่มีสาร POPs ต้องได้รับการดูแลไม่ให้ส่งผลต่อสุขภาพมนุษย์และ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องดูแลจัดการของเสียที่เกิดจากสาร POPs ในทำนองเดียวกัน
6. พยายามกำหนดแผนและปฏิบัติตามแผนเพื่ออนุวัติตามอนุสัญญา POPs และ ส่งรายงานให้ที่ประชุมภาคี ภายใน 2 ปี หลังจากอนุสัญญา POPs มีผลบังคับใช้
7. ให้ระดับผู้บริหารและผู้กำหนดนโยบายมีความเข้าใจเรื่อง POPs
8. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ POPs แก่สาธารณชน รวมทั้งกำหนดแผนและแนวปฏิบัติในการประชาสัมพันธ์ให้สตรี เด็ก และผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาทราบเรื่อง POPs และภัยอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
9. สนับสนุนให้มีทำการวิจัยเรื่องผลกระทบต่าง ๆ จากสาร POPs ทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ
10.ตั้งศูนย์ประสานงานระดับชาติเพื่อทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและหน้าที่อื่น ๆ 



ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ

: ลำปาง - อุดรฯ สู่คาร์บอนต่ำลดก๊าซเรือนกระจก


: Tar Balls (ก้อนน้ำมัน)


: ผลประโยชน์ร่วมจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

      นโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกียวข้องกับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานนิวเคลียร์ อาจจะมีผลประโยชน์ร่วมในหลายด้าน เช่น าการบรรเทาผลกระทบของมลพิษทางอากาศ การรักษามั่นคงทางพลังงาน (ความหลากหลายของพลังงานทางเลือกที่เพิ่มขึ้น) นวัฒกรรฒเทคโนโลยี การลดต้นทุนทางพลังงาน การจ้างงาน และลดการย้ายถิ่นฐานเข้าเมือง


ที่มา :สำนักยุทธศาสตร์
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

: เกร็ดความรู้มลพิษทางทะเล

         ทะเลและชายฝั่ง นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ อีกหลายชนิดที่เป็นอาหารของคนไทยแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งแล้วยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลายและมีคุณค่ามากมาย แต่ในปัจจุบันแหล่งทรัพยากรชายฝั่งของทะเลไทยเสื่อมโทรมอย่างมาก ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากทะเลเป็นแหล่งสุดท้ายที่ของเสียจากแหล่งต่างๆ ซึ่งถูกพัดมาตามลำน้ำแล้วสะสมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณอ่าวไทย ซึ่งมีแม่น้ำที่สำคัญถึงสี่สายไหลไปรวมกันคือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางประกง และยังมีสาเหตุสำคัญมาจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วบริเวณชายฝั่ง ส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย โดยไม่คำนึงถึงความเสื่อมโทรที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดปัญหาจนเกิดเป็นมลพิษทางทะเลน้ำทะเลเสื่อมคุณภาพ และยังสร้างความเสียหายต่อพืชและสัตว์ที่อยู่อาศัยในทะเลและบริเวณชายฝั่ง และความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ก็ส่งผลย้อนกลับมายังมนุษย์ในด้านต่างๆ เช่นดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ผลกระทบด้านสุขภาพ หรืออาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางสังคม เป็นต้น

      มลพิษทางทะเล หมายถึง การที่มนุษย์นำเอาสิ่งต่างๆ ลงสู่สิ่งแวดล้อมในทะเล เช่นน้ำเสีย ขยะ ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่ หรือจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เมื่อการกระทำนั้นก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งมีชีวิต เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ หรือการทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมในทะเลเสื่อมล และทำให้คุณค่าทางสุนทรียภาพลดลง

แหล่งกำเนิดมลพิษ
      มลพิษทางทะเลเกิดจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมและชุมชนเมืองต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้ที่ดินบริเวณชายฝั่งทะเล เช่น การเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม การเปลี่ยนป่าชายเลนไปเป็นนากุ้ง ทำให้สิ่งแวดล้อมทางทะเลเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว โดยมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต แหล่งกำเนิดมลพิษดังกล่าวสามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้





1. แหล่งกำเนิดมลพิษจากชายฝั่ง
ที่ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุดคือ ชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ท่าเรือ ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล และริมฝั่งแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเล ซึ่งกิจกรรมจากชายฝั่งดังกล่าทำให้ทรัพยากรธรรมชาติบริเวณชายฝั่งและในทะเลเสื่อมโทรมลง

2. แหล่งกำเนิดมลพิษในทะเล
เกิดจากกิจกรรมในทะเลที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้แก่ การเดินเรือ การทำประมง และท่าเทียบเรือบริเวณชายฝั่งทำให้ทะเลมีการปนเปื้อนของน้ำมันที่รั่วไหล นอกจากนี้ การขุดร่องน้ำ การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ และการทำเหมืองแร่ในทะเลก่อให้เกิดการฟุ้งกระจาย และเกิดการปนเปื้อนของสารมลพิษรวมทั้งปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี ซึ่งทำให้น้ำทะเลเกิดการเน่าเสียและเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ

แหล่งกำเนิดมลพิษจากชายฝั่งทะเล




ชุมชน Communities 
     
 ชุมชน โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเลและปากแม่น้ำที่มีขุมชนหนาแน่น เป็นแหล่งก่อให้เกิดมลพิษจากกิจกรรมต่างๆ ภายในบ้านเรือน ตลาดสด สำนักงาน โรงพยาบาล เช่น น้ำล้างจาน น้ำซักเสื้อผ้า ของเสียจากอาคารสำนักงานต่างๆ เป็นต้น ซึ่งน้ำทิ้งดังกล่าวมีความสกปรกสูง เช่น ปริมาณฟอสฟอรัสและไนโตรเจนสูง ทำให้พืชน้ำเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ต้องใช้ออกซิเจนในการสังเคราะห์แสงมากขึ้น จนทำให้แหล่งน้ำเกิดภาวะขาดออกซิเจน และเสื่อมคุณภาพได้
ส่วนขยะหรือของเสียที่เป็นของแข็ง ได้แก่ โฟม ยาง ขวดแก้ว และวัสดุที่ทำจากพลาสติกต่างๆ อาจมีอันตรายต่อสัตว์น้ำเพราะคิดว่าเป็นอาหาร เนื่องจากขยะดังกล่าวใช้เวลาในการย่อยสลายนาน เช่น ตั๋วรถเมล์ มีอายุ 2-4 สัปดาห์ ผ้าฝ้ายมีอายุ 1-5 เดือน เชือกมีอายุ 3-14 เดือน ไม้มีอายุ 13 ปี กระป๋องอลูมิเนียมมีอายุ 200-300 ปี ขวดพลาสติกมีอายุ 450 ปี โฟมมีอายุ 500 ปี (บนดิน) ขวดแก้วไม่สามารถย่อยสลายได้ ของเสียและขยะเหล่านี้มักจะมาจากชุมชนที่ติดกับแม่น้ำที่ไหลสู่ทะเลหรือชุมชนที่อยู่ติดกับทะเล (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย,2540) ของเสียที่ถูกทิ้งดังกล่าวเมื่อถูกพัดเข้าสู่ชายฝั่งจะทำให้บริเวณนั้นสกปรก เสียทัศนียภาพ และไม่เหมาะแก่การท่องเที่ยว
     ความสกปรกในรูปบีโอดีจากน้ำทิ้งชุมชนในเทศบาลและสุขาภิบาลมีค่าบีโอดีประมาณ 100 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยกิจกรรมจากตลาดสดก่อให้เกิดความสกปรกสูงที่สุด มีความสกปรกในรูปบีโอดีเฉลี่ย 3,558 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีปริมาณของแข็งละลายนำสูงมาก (กรมควบคุมมลพิษ, 2541)

การย่อยสลายของแข็งนั้นใช้เวลายาวนาน ตัวอย่างเช่น
- ตั๋วรถเมล์ 2-4 สัปดาห์
- ผ้าฝ้าย 1-5 เดือน
- เชือก 3-14 เดือน
- ไม้ 13 ปี
- กระป๋องอลูมิเนียม 300 ปี
- ขวดพลาสติก 450 ปี
- โฟม 500 ปี(บนดิน)
- ขวดแก้ว ชั่วกัลปาวสาน 

อุตสาหกรรม Industrial Plants
แบ่งออกตามประเภทของสารมลพิษ ได้ดังนี้
       อินทรีย์สาร Organic Matter โรงงานที่ก่อให้เกิดอินทรีย์สาร ได้แก่ โรงงานกระดาษ ผลิตภัณฑ์ อาหาร น้ำตาล เหล้า และเบียร์ เป็นต้น โดยน้ำทิ้งจากแหล่งดังกล่าวมักมีปริมาณฟอสฟอรัสและไนโตรเจนสูง ทำให้การเจริญของแบคทีเรียและเชื้อราเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้จะใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายอินทรีย์สาร ปริมาณออกซิเจนในน้ำจึงลดลงและมีค่าความสกปรกในรูปบีโอดีสูง ทำให้สัตว์น้ำติดเชื้อหรือขาดก๊าซออกซิเจนจนตาย ซึ่งภาวะมลพิษแบบน้ำสังเกตได้จากการเกิดน้ำเน่าเหม็น

โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง บริเวณ จังหวัดชลบุรี มีปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้น ประมาณ 2,000 ลบ.ม/วัน (กรมควบคุมมลพิษ, 2540)

ความร้อน Heat
     เกิดจากการปล่อยน้ำหล่อเย็นของโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ โดยน้ำที่ปล่อยมีอุณหภูมิสูงกว่าน้ำในสภาพแวดล้อมทำให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำลดลง และเกิดการเปลี่ยนแปลงขบวนการเมตาโบลิซึมของสัตว์น้ำ เช่น การหายใจ การกินอาหาร และมีผลต่อการวางไข่ของปลา ส่วนสัตว์ที่เคลื่อนที่ได้อาจจะอพยพไปอยู่ที่อื่นซึ่งเป็นการสูญเสียแหล่งอาหาร

อุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำอุณหภูมิสูง ตัวอย่างเช่น
- โรงงานผลิตไฟฟ้า
- โรงงานทำกระดาษ
- อุตสาหกรรมที่มีการต้มกลั่น
- โรงงานที่มีการใช้น้ำหล่อเย็น เป็นต้น

โลหะหนัก Heavy Metals
     เกิดจากการทิ้งของเสียจากโรงงงานที่มีโลหะหนักปนอยู่ เช่น โรงงานทำพลาสติก ผลิตคลอรีน เครื่องไฟฟ้าบางชนิดหรือเป็นส่วนผสมของสารเคมีที่ใช้ฆ่าแบคทีเรีย และสีกันเพรียง เป็นต้น โลหะหนักส่วนใหญ่ที่พบได้แก่ ปรอท ตะกั่ว แคดเมี่ยม ทองแดง สังกะสี เหล็ก เหล็ก แมงกานีส โคบอลท์ เงิน เป็นต้น สารเหล่านั้นสามารถสะสมและถ่ายทอดไปตามห่วงโซ่อาหารในสัตว์น้ำ ซึ่งจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนถึงระดับที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคสัตว์น้ำได้

ปริมาณสารปรอทในน้ำทะเลบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ตรวจวัดตั้งแต่เดือน มกราคม 2538 ถึงเดือนกรกฎาคม 2539 โดยมีค่าเฉลี่ยรวม 0.073 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งค่าเฉลี่ยดังกล่าวมีค่าไม่เกินมาตรฐาน คุณภาพน้ำชายฝั่งทะเล (0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร) (กรมควบคุมมลพิษ, 2540)

สารโพลีคอรีเนเต๊ดไบเฟนิล หรือPCBs Polychlorinated Biphenyls 
     ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้า โรงงานทำพลาสติก สี เป็นต้น สารเหล่านี้มีความเป็นพิษสูง ไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพ และเป็นสารที่ถ่ายทอดสะสมตามห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ยังเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้

PCBs ที่พบในเนื้อเยื่อหอยในปริมาณ 0.032- 0.042 ไมโครกรัม/กรัม และ 0.002-0.043 ไมโครกรัม/กรัมตามลำดับ (การสัมมนาวิทยาศาสตร์ทางทะเล แห่งชาติ ครั้งที่ 5 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2537)

เกษตรกรรม Agriculture
     ประเทศไทยได้พัฒนาจากระบบเกษตรกรรมมาสู่ระบบอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชต่างๆ การเลี้ยงสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดมลพิษทางทะเลได้ดังนี้

การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ Aquaculture
     พบทั่วไปบริเวณป่าชายเลน ปากแม่น้ำ และคลองต่างๆ ที่ติดกับชายฝั่งทะเล สัตว์น้ำสำคัญที่ทำการเพาะเลี้ยงได้แก่ กุ้งกุลาดำ ปลากะพง ปูทะเล หอยนางรม โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ มีการเพาะเลี้ยงกันมากในภาคใต้ มีการปล่อยน้ำทิ้งที่มีคุณภาพต่ำ ประกอบด้วยของเสียจากการขับถ่าย ตะกอนดิน สารเคมี ยาปฏิชีวนะ และเศษอาหารปนอยู่ด้วย เช่นแอมโมเนีย ไนไตรท์ รวมถึงค่าความเป็นกรดและต่างไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำต่ำ จำนวนแพลงก์ตอนในน้ำสูงมาก เป็นต้น

การเพาะปลูก Agriculture
     โดยทั่วไปเกษตรกรจะใช้สารเคมีพวกยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืชและปุ๋ยในการป้องกันการสูญเสียผลผลิต และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตสารเคมีเหล่านี้สามารถแพร่กระจายลงสู่แหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน ซึ่งจะมีการสะสมในแหล่งน้ำต่างๆ และถูกถ่ายเทลงสู่ทะเลได้โดยเฉพาะยากำจัดศัตรูพืช จะถูกดูดซึมผ่านแพลงก์ตอนพืช และสารแขวนลอยในน้ำแล้วถ่ายทอดและสะสมเพิ่มขึ้นในตัวสัตว์ที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารที่สูงกว่าทำให้สัตว์มีอาการผิดปกติจนถึงตายได้

ภาคใต้มีการปลูกข้าวนาปีเป็นส่วนใหญ่ ในปี พ.ศ.2538 พบว่ามี 3.9 ล้านไร่ มีอัตราการใช้ปุ๋ยในน้ำข้าวในอัตราเฉลี่ย 13 กก./ไร่/ปี ทำให้เกิดความสกปรกในรูปไนเตรต-ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ที่ถ่ายทิ้งจากนาข้าวซึ่งมีค่าเท่ากับ 5 และ 0.8 ก./ไร่/วัน (กรมควบคุมมลพิษ, 2541)

การท่องเที่ยว Tourism
     ปัจจุบันการท่องเที่ยวทะเลได้รับความนิยมสูง และผลที่ตามมาคือการเพิ่มปริมาณขยะมูลฝอย ของเสีย และน้ำทิ้งจากสถานที่พักตากอากาศ ร้านอาหารและสถานบริการอื่นๆ และเรือโดยสารทำให้น้ำทะเลมีคุณภาพเสื่อมลง นอกจากนี้ยังเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เช่น การทิ้งสมอเรือบริเวณ แนวประการัง ปัญหาเหล่านี้ย่อมส่งผลให้ทรัพยากรชายฝั่ง ระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเล และทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยวนั้นเสื่อมโทรมลง และยังมีผลต่อสุขภาพอนามัยของนักท่องเที่ยวและประชาชนในท้องถิ่นนั้น รวมไปถึงส่งผลนต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจด้วย ตัวอย่างเช่น การเกิดการขยายตัวของสาหร่ายเห็ดหูหนู (Padina) ที่อ่าวแม่ยาย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ตั้งแต่ปี 2531 ทำให้ประการังที่สมบูรณ์หนาแน่น ถูกสาหร่ายขึ้นคลุมจนทำให้ประการังล้มตาย และปิดอ่าวลงไปในที่สุด ซึ่งสาเหตุเกิดจาก มีสารฟอสเฟตจากการซักล้างตกค้างมาก และไม่มีการระบาย จึงเป็นสารอาหารให้แก่สาหร่าย

คุณภาพน้ำในบริเวณหาดพัทยาโดยพิจารณาจากการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียรวม (ปี 2537) ยังคงอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม (แม้ว่าคุณภาพน้ำจะดีขึ้น)ไม่เหมาะแก่การว่ายน้ำตามเกณฑ์มาตรฐาน (มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล เพื่อการว่ายน้ำของเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียรวมได้ไม่เกิน 1,000 เอ็มพีเอ็นต่อ 100 มิลลิลิตร)
ท่าเรือและสะพานปลา Fishing Post

       บริเวณท่าเรือส่วนใหญ่มีการรั่วไหลของน้ำมันจากการซ่อมเครื่องยนต์การถ่ายน้ำมันเครื่อง น้ำทิ้งจากท้องเรือ และการทำความสะอาดเรือ ส่วนท่าเทียบเรือประมงและสะพานปลา พบว่าน้ำทิ้งจากการล้างทำความสะอาดสัตว์น้ำแปรรูปสัตว์น้ำ การล้างทำความสะอาดท่าและเรือประมง ไหลลงสู่แหล่งน้ำโดยตรง โดยไม่ผ่านการดักเศษชิ้นส่วนสัตว์น้ำและระบบบำบัดใด จึงมักมีคราบไขมัน เศษซากสัตว์น้ำ และเศษขยะมูลฝอยลอยอยู่บนผิวน้ำ ซึ่งน้ำทิ้งเหล่านี้จะมีสารอินทรีย์ปนเปื้อนเป็นจำนวนมาก มีผลต่อคุณภาพน้ำและสิ่งมีชีวิตในบริเวณนั้น




จะเห็นได้ว่าน้ำทิ้งจากแพปลามีค่าความสกปรกสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกีบแหล่งกำเนิดมลพิษอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น
จากการสำรวจค่าความสกปรกในรูปบีโอดีของแพปลาในลุ่มน้ำภาคใต้เฉลี่ยเท่ากับ 6,856 มิลลิกรัมต่อลิตร (กรมควบคุมมลพิษ, 2541) ส่วนบริเวณสะพานปลากรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ในช่วงที่มีกิจกรรมหนาแน่นพบปริมาณความสกปรกในรูปบีโอดีอยู่ในช่วง 5,170 - 6,280 มิลลิกรัมต่อลิตร ตะกอนแขวนลอยมีค่า 7,334 - 20,850 มิลลิกรัมต่อลิตร มีค่าไขมันและน้ำมันระหว่าง 110-750 มิลลิกรัมต่อลิตร และไนโตรเจนทั้งหมดมีค่า 46-145 มิลลิกรัมต่อลิตร

แหล่งกำเนิดมลพิษในทะเล



จะเห็นได้ว่าน้ำทิ้งจากแพปลามีค่าความสกปรกสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกีบแหล่งกำเนิดมลพิษอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น
จากการสำรวจค่าความสกปรกในรูปบีโอดีของแพปลาในลุ่มน้ำภาคใต้เฉลี่ยเท่ากับ 6,856 มิลลิกรัมต่อลิตร (กรมควบคุมมลพิษ, 2541) ส่วนบริเวณสะพานปลากรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ในช่วงที่มีกิจกรรมหนาแน่นพบปริมาณความสกปรกในรูปบีโอดีอยู่ในช่วง 5,170 - 6,280 มิลลิกรัมต่อลิตร ตะกอนแขวนลอยมีค่า 7,334 - 20,850 มิลลิกรัมต่อลิตร มีค่าไขมันและน้ำมันระหว่าง 110-750 มิลลิกรัมต่อลิตร และไนโตรเจนทั้งหมดมีค่า 46-145 มิลลิกรัมต่อลิตร

การรั่วไหลของน้ำมัน Oil Spill
     เกิดจากอุบัติเหตุทางเรือ เช่น เรือชนกัน การอับปางของเรือ และกิจกรรมการเดินเรือ ได้แก่ การถ่ายน้ำมันเครื่อง การระบายน้ำในท้องเรือ การขนถ่ายน้ำมัน การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันในทะเล

บริเวณชายฝั่งทะเลของอ่าวไทยฝั่งตะวันออก มักมีการลักลอบถ่ายน้ำทิ้งปนเปื้อนน้ำมันลงทะเลทำให้เกิดคราบน้ำมันขึ้นบนชายหาด โดยเฉพาะจังหวัดระยอง ซึ่งต้องใช้กำลังคนทำความสะอาดชายฝั่ง

     น้ำทิ้งเหล่านี้ล้วนปนเปื้อนน้ำมันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเล เนื่องจากน้ำมันบนผิวน้ำไปขัดขวางการถ่ายเทก๊าซออกซิเจนระหว่างอากาศและน้ำ ทำให้สัตว์น้ำขาดออกซิเจนและรากต้นไม้ในป่าชายเลนไม่สามารถหายใจได้ จึงเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ป่าชายเลน ส่วนคราบน้ำมันจะเคลือบขนของสัตว์และถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกาย ยับยั้งการสืบพันธุ์และการเจริญเติบโต โดยเฉพาะไข่นกจะไม่สามารถฟักออกเป็นตัวได้
นอกจากนี้คราบน้ำมันยังปิดกั้นแสงสว่างที่สองลงมาสู่พื้นท้องน้ำมีผลต่อขบวนการสังเคราะห์แสงของพืชน้ำ น้ำมันที่ความเข้มข้นสูงอาจทำให้สัตว์น้ำตายได้ (ความเข้มข้น 1-3 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็นเวลานานกว่า 96 ชั่วโมง) น้ำมันที่มีความหนาแน่นสูงเมื่อจมลงสู่พื้นท้องทะเลมีผลต่อสัตว์หน้าดิน ผลกระทบที่กล่าวมานี้จะทำให้สุนทรียภาพและความงามของแหล่งท่องเที่ยวหมดไป พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของน้ำมันสูงมาก ได้แก่ บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ชายฝั่งศรีราชา บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าวไทยตอนบนถึงอ่าวบ้านดอนจังหวัดสุราษฎร์ธานี


สาเหตุที่ก่อให้เกิดน้ำมันรั่วไหลในประเทศไทยมากที่สุด (พ.ศ. 2516-2541) คือ การลักลอบปล่อยน้ำมันจากท้องเรือและน้ำมันเครื่อง รองมาคือ การรั่วไหลระหว่างการขนถ่ายน้ำมัน
ปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี หรือขึ้ปลาวาฬ Red Tide
      ปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีหรือที่ชาวประมงหรือว่า "ขี้ปลาวาฬ" เกิดจากแพลงก์ตอนพืชบางชนิดที่รับธาตุอาหาร โดยเฉพาะไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และสภาวะที่เหมาะสมจึงเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนขึ้นรวดเร็ว ทำให้น้ำทะเลมีสีที่เปลี่ยนไปตามสีของแพลงก์ตอนที่มีมาก

แพลงก์ตอนที่เป็นสาเหตุของการเกิดน้ำเปลี่ยนสีในอ่าวไทยที่พบเสมอ คือ Trichodesmium erythraeum Ehr. จะทำให้น้ำมีสีเหลืองอมเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเทาและน้ำตาลแดงในเวลาต่อมา และ Noctiluca scintillans (Macartney) Kofoid จะทำให้เป็นสีเขียว (เป็นแพลงก์ตอนไม่มีพิษทั้ง 2 ชนิด) ส่วนมากน้ำเปลี่ยนสีที่เกิดจาก Noctiluca จะเกิดบริเวณใกล้ฝั่งโดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำ และในอ่าวไทยที่มีที่กำบังคลื่มลมน้ำเปลี่ยนสีที่เกิดจากไดอะตอมจะมีสีขาวเป็นเมือกเหนียว

เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2537 สำรวจปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีบริเวณชายฝั่งทะเล อ. พระสมุทรเจดีย์ จ. สมุทรปราการ
    การเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี ทำให้ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ (DO) น้อยลงจนถึงระดับที่สัตว์น้ำไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ หรือเกิดจากการอุดตันในช่องเหงือกโดยแพลงก์ตอน รวมทั้งการตายลงของแพลงก์ตอนพืชทำให้น้ำทะเลเกิดการเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น ชายฝั่งสกปรก ทำลายทัศนียภาพและการท่องเที่ยว นอกจากนี้การบริโภคสัตว์น้ำที่สะสมสารพิษจากแพลงก์ตอนพืช โดยเฉพาะพวกหอยต่างๆ อาจทำให้เกิดโรคพิษอัมพาต ซึ่งมีรายงานพบในประเทศฟิลิปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยไม่ปรากฏว่ามีน้ำเปลี่ยนสีที่เกิดจากแพลงก์ตอนที่พิษ แม้ว่าในเดือนพฤษภาคม 2526 จะพบหอยแมลงภู่เป็นพิษบริเวณปากแม่น้ำปราณบุรี แต่สาเหตุของการเกิดพิษครั้งนั้นยังไม่อาจพิสูจน์ได้
     ระหว่างปี พ.ศ.2524-2530 พบว่ามีปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีถึง 43 ครั้ง โดยปกติจะพบเสมอในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงพฤษภาคม และในปี 2526 ได้เกิดน้ำเปลี่ยนสีครั้งสำคัญเกิดจาก Trichodesmium erythraeum  แพร่กระจายกว้างประมาณ 7,000 ตารางกิโลเมตร จากฝั่งตะวันออกจรดอ่าวไทยตอนใน และปรากฏอยู่นานจากเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน

การขุดลอกร่องน้ำ Dredging
      การขุดลอกพื้นที่เพื่อจัดทำแนวร่องน้ำเข้าท่าเรือ มี 2 ขั้นตอน คือ การเคลื่อนย้ายดินตะกอนจากพื้นท้องน้ำ และการทิ้งดินตะกอน ก่อให้เกิดการเพิ่มปริมาณตะกอนและสารแขวนลอยในน้ำ การเพิ่มความขุ่นของน้ำการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของพื้นท้องน้ำ (ถ้ากรณีที่ทิ้งดินตะกอนในทะเลการเปลี่ยนแปลงจะเกิดจากการทับถมของตะกอนดิน) กรณีทิ้งดินตะกอนบนฝั่งอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะอุทกวิทยาของพื้นที่ เช่น ทิศทางการไหลของน้ำผิวดิน และการเปลี่ยนแปลงลักษณะสมุทรศาสตร์ชายฝั่ง การฟุ้งกระจายของสารอาหารและสารเป็นพิษ การเปลี่ยนแปลงปริมาณของพืชและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนท้องน้ำ

ในประเทศไทยได้ขุดดินเพื่อรักษาร่องน้ำ ประมาณ 8 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยในปี 2540 ได้ขุดลอกร่องน้ำสำหรับเป็นเส้นทางเดินเรือ 13 เส้นทาง
  การเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมที่กล่าวมาข้างต้นจะมีความรุนแรงจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมมากเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับระดับของการเปลี่ยนแปลง สถานภาพและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมประเด็นหลักได้แก่ ผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ ระบบนิเวศน์ของสิ่งมีชีวิตในน้ำ การประมง การท่องเที่ยว เป็นต้น


การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ Natural Field


ปัจจุบันในอ่าวไทยมีแท่นขุดเจาะ
ก๊าซธรรมชาติอยู่ประมาณ 180 แท่น
รูปทางขวามือแสดงบริเวณ
ที่มีแท่นเจาะก๊าซในอ่าวไทย

      ในก๊าซธรรมชาติและตะกรันที่เกิดจากกระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติมีสารปรอทอยู่ แม้แต่น้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดเบื้องต้นแล้วยังพบว่ามีสารปรอทเจือปนอยู่ร้อยละ 4 ซึ่งหากไม่มีการจัดการอย่างถูกวิธีจะทำให้สารปรอทแพร่ออกสู่ทะเลในที่สุด
ปัจจุบันปริมาณสารปรอทในอ่าวไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังไม่เกินมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง (มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งกำหนดปริมาณปรอทไว้ไม่เกิน 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร) อย่างไรก็ตามสิ่งมีชีวิตในทะเลสามารถสะสมปรอทไว้ในเนื้อเยื่อได้สูงหลายเท่าตัวของความเข้มข้นปรอทในน้ำ ทำให้เกิดความผิดปกติต่างๆ อาทิ ความผิดปกติในการวางไข่ และการเจริญของตัวอ่อนสัตว์น้ำ เช่น ปลา กุ้ง หอย เมื่อคนบริโภคสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็จะทำให้เกิดการสะสมปรอทในไต ตับ สมอง และทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง

การทำเหมืองแร่ในทะเล Offahore Mining

   สารมลพิษจากการทำเหมืองแร่นี้ คือ ตะกอนที่เกิดจากการขุดและล้างแร่จะฟุ้งกระจายและถูกพัดพาไปในบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากการแพร่กระจายของตะกอนทำให้น้ำขุ่นเป็นการทำลายความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยว และไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของปะการัง สัตว์น้ำวัยอ่อนและสัตว์น้ำที่มีคุณค่าเศรษฐกิจ

แหล่งแร่ดีบุกของประเทศไทยมีมากทางชายฝั่งทะเลทางภาคใต้ โดยเฉพาะทางฝั่งทะเลอันดามันแถบจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต ซึ่งในปัจจุบันได้หยุดทำเหมืองดีบุกไปเนื่องจากราคาดีบุกในตลาดโลกตกต่ำลง
       โดยตะกอนอาจไปอุดตันตามเหงือก หรือตกทับอยู่บนตัวสัตว์น้ำ เนื่องจากพื้นที่ประทานบัตรเหมืองแร่ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณป่าชายเลนและบริเวณใกล้เคียง จึงมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ป่าชายเลนและการประมง นอกจากนี้ตะกอนที่เกิดขึ้นจะลดการส่องผ่านของแสงลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้อัตราการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืชลดลง การทำเหมืองแร่ในทะเลจึงส่งผลกระทบ อย่างมากต่อระบบนิเวศน์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ ไนประเทศไทยมีกิจกรรมการทำเหมืองแร่มากทางชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งแร่ดีบุกของประเทศ โดยเฉพาะทางฝั่งทะเลอันดามันแถบจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต ซึ่งในปัจจุบันได้หยุดทำเหมืองดีบุกไปเนื่องจากราคาดีบุกในตลาดโลกตกต่ำลง

แนวทางการป้องกันและแก้ไขมลพิษทางทะเล
1. การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล
     เพื่อทราบสถานการณ์ของคุณภาพน้ำทะเล และสถานการณ์ของมลพิษทางทะเลที่มีการเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง โดยเฉพาะบริเวณที่มีคุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรม และจัดทำมาตรการการจัดการมลพิษทางทะเล กรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการสำรวจคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งทะเลทั่วประเทศเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะบริเวณที่คุณภาพน้ำทะเลมีแนวโน้มเสื่อมโทรม จะมีการติดตามตรวจสอบหลายครั้งต่อปีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์เพื่อค้นหาแหล่งกำเนิดมลพิษและควบคุมให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย


การแก้ไขมลพิษทางทะเล ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของคนไทยทุกคนเพื่อรักษาและฟื้นฟูให้ท้องทะเลไทยกลับคืนสู่ความสมบูรณ์สวยงามอีกครั้ง  

2. กำหนดมาตรฐานเพื่อควบคุมคุณภาพน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ
      กรมควบคุมมลพิษได้ประกาศมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษบริเวณชายฝั่งที่มีผลต่อคุณภาพน้ำทะเล เช่น มาตรฐานน้ำทิ้งชุมชน มาตรฐานน้ำทิ้งอุตสาหกรรม เพื่อควบคุมการพัฒนากิจกรรมบริเวณชายฝั่งที่มีอยู่อย่างเคร่งครัดและป้องกันไม่ให้ปล่อยสารมลพิษลงสู่ทะเลมากจนเกินไป จนก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางทะเลได้ โดยหากเจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษใดไม่ปฏิบัติตามจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

3. จัดทำแผนปฏิบัติการฟื้นฟูคุณภาพแหล่งน้ำและน้ำทะเลชายฝั่ง
    ในการป้องกันและแก้ไขความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในบริเวณตอนล่างของแม่น้ำหรือบริเวณชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการศึกษาโครงการการจัดการคุณภาพน้ำและจัดทำแผนปฏิบัติการในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคตะวันออก และลุ่มน้ำภาคใต้ และโครงการจัดการคุณภาพน้ำและจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการมลพิษทางน้ำในเขตชุมชน และกิจกรรมจากชุมชน ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำบริเวณตอนล่างของแม่น้ำและชายฝั่งทะเล โครงการดังกล่าว จะช่วยในการพิจารณาจัดทำแผนการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนพร้อมทั้งเสนอมาตรการต่างๆ ในการลดปริมาณมลพิษแหล่งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม

4. พัฒนาเทคโนโลยีในการลดมลพิษทางทะเล
     กรมควบคุมมลพิษ ได้พัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ที่ใช้คาดการณ์แนวทางการเคลื่อนตัวของคราบน้ำมันในทะเล ระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการขจัดคราบน้ำมัน และระบบประเมินความเสี่ยงการเกิดคราบน้ำมันในทะเล เพื่อใช้เป็นแนวในการเลือกเทคนิคขจัดคราบน้ำมันที่มีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพสูงสุดระหว่างที่เกิดขึ้นน้ำมันรั่วไหลในทะเล

5. จัดทำแผนการจัดการ แนวทาง และมาตรการการจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
      เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่หน่วยงานต่างๆ ในชุมชน ท้องถิ่นและเขตควบคุมมลพิษ เช่น เขตควบคุมมลพิษจังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้กรมควบคุมมลพิษจะทำการสำรวจข้อมูลด้นการจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลของชุมชน เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศ และพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียจากมูลฝอยแบบประหยัดพื้นที่และค่าใช้จ่าย

6. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และจิตสำนึกด้านอนุรักษ์ แก่ประชาชน
     โดยทางภาครัฐและเอกชนได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรทางทะเล และให้ความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล สำหรับกรมควบคุมมลพิษได้จัดทำรายงานคุณภาพน้ำชายฝั่งทะเล และเอกสารเผยแพร่ความรู้ด้านการจัดการมลพิษทางทะเล

7. แผนปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อป้องกันและแก้ไขมลพิษทางทะเล
     ได้จัดทำแผนปฏิบัติการฉุกเฉิน ในการขจัดคราบน้ำมันสำหรับกรมควบคุมมลพิษ เพื่อจัดเตรียมข้อมูลพื้นฐานและโครงสร้างของการปฏิบัติการต่างๆ ในการรับแจ้งข่าวการเกิดคราบน้ำมันในทะเลขั้นต้น ตลอดจนการทำความสะอาดคราบน้ำมัน แผนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจากการเกิดคราบน้ำมัน ไปจนถึงการทำการฟ้องร้องค่าเสียหายต่างๆ เพื่อป้องกันและรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากน้ำมันรั่วไหล
ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง : ทะเลไทยกับการใช้ประโยชน์
- มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งประเทศไทย