1. ประเทศไทยกับการตกสะสมของกรด
สารมลพิษ คือของเสียหรือมลสารใดๆ ที่ก่อให้เกิด หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือภาวะที่เป็นพิษภัยอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
สารมลพิษบางชนิดที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuels) ได้แก่ ก๊าซออกไซด์ของซัลเฟอร์ และก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน เมื่อลอยเข้าสู่บรรยากาศ จะกลายสภาพเป็นสารกรด และถูกพัดพาไปได้ไกลอย่างไร้พรมแดน ส่งผลให้หมอก น้ำค้าง ฝน เป็นกรด กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคและของโลก สารกรดในบรรยากาศเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงในประเทศอุตสาหกรรมหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำความเสียหายต่อสุขภาพ ทรัพย์สิน แหล่งผลิตอาหารและทรัพยากรธรรมชาติ จนต้องแสวงหาแนวทางเพื่อลดการปล่อยมลพิษและบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในอัตราที่สูง ทำให้ชุนชนเมือง อุตสาหกรรม และการคมนาคมขนส่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้มีการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ปัญหาเรื่องสารกรดในบรรยากาศจึงได้เริ่มปรากฏขึ้นแล้ว โดยในบางครั้งตรวจพบว่าน้ำฝนที่ตกลงมาในเขตเมือง และเขตอุตสาหกรรมมีความเป็นกรดสูงกว่าน้ำฝนธรรมชาติ สำหรับประเทศไทยปัญหานี้อาจทวีความรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต เช่นเดียวกับที่เกิดในประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วสาร กรดสามารถเดินทางไปในบรรยากาศได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตรจากแหล่งกำเนิด
2. ความเป็นกรด-ด่างของ “น้ำฝน” ตามธรรมชาติ
ความเป็นกรด-ด่างของสิ่งต่างๆ วัดกันด้วยค่าพีเอช (pH) คล้ายๆ กับที่เราวัดอุณหภูมิเป็นองศาเซลเซียส (°C) แต่ค่อนข้างซับซ้อนกว่า ค่า pH มีค่าอยู่ระหว่าง 1-14 ซึ่งขึ้นอยู่กับสมดุลย์ของกรดและด่าง โดยความเป็นกลางมีค่า pH 7 กรดมีค่า pH ต่ำกว่า 7 ส่วนด่างมีค่า pH สูงกว่า 7
ค่า pH มีความสัมพันธ์ที่ยุ่งยากซับซ้อนกับความเข้มข้นของกรด หรืออีกนัยหนึ่งปริมาณไฮโดรเจนอิออน (H+) ที่มีอยู่ในของเหลว โดยที่ค่า pH ต่ำๆ จะยี่งมีปริมาณไฮโดรเจนอิออนมากขึ้นเป็นทวีคูณ และตัวเลขของค่า pH แต่ละหนึ่งค่าที่ลดลงจะมีความเป็นกรดหรือปริมาณไฮโดรเจนอิออนเพิ่มขึ้น 10 เท่า กล่าวคือ น้ำฝนที่มีค่า pH 4 มีความเป็นกรดเป็น 10 เท่าของน้ำฝนที่มีค่า pH 5 และมีความเป็นกรดเป็น 100 เท่าของน้ำฝนที่มีค่า pH 6
โดยทั่วไปหยดน้ำฝนที่เกิดจากการควบแน่นในบรรยากาศควรจะมีค่าความเป็นกรด-ด่าง หรือค่า pH ใกล้ๆ 7 อย่างไรก็ตามก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในบรรยากาศเมื่อละลายเข้าไปในหยดน้ำฝนกลายเป็นกรดอ่อนคาร์ บอนิค หยดน้ำฝนจึงมีค่า pH ต่ำลง หยดน้ำฝนตามธรรมชาติจะมีค่า pH เท่ากับ 5.6 อย่างไรก็ตาม สารกรดที่อยู่ในบรรยากาศก็ละลายเข้าไปในหยดน้ำฝนได้เช่นกัน ทำให้เกิดเป็นกรดกำมะถันหรือกรดซัลฟูริคและกรดดินประสิวหรือกรดไนตริค ซึ่งเป็นกรดแก่และจะทำให้ค่า pH ของหยดน้ำฝนมีค่าต่ำลงไปอีก คือ มีความเป็นกรดมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ เมื่อตกลงมาในแหล่งน้ำและผืนดิน ก็จะทำให้น้ำและดินมีความเป็นกรดมากขึ้น เกิดผลกระทบเสียหายต่อพืช สัตว์ และระบบนิเวศวิทยา นอกจากนี้ ความเป็นกรดของน้ำฝนยังก่อให้เกิดการสึกกร่อนของวัสดุสิ่งก่อสร้างต่างๆ อีกด้วย
|
การตรวจสอบเบื้องต้นว่าฝนที่ตกลงมานั้นมีสภาพเป็นกรดหรือไม่
เก็บตัวอย่างน้ำฝนในพื้นที่เปิดโล่งโดยใช้ภาชนะที่สะอาด ไม่มีการปนเปื้อนใดๆ จากนั้นตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่างของฝน โดยหากค่า pH ที่ตรวจวัดได้มีค่าต่ำกว่า 5.6 หมายความว่าน้ำฝนดังกล่าวอาจมีการปนเปื้อนและเริ่มมีศักยภาพความเป็นกรด โดยสภาพความเป็นกรดของน้ำฝนจะสูงขึ้นเมื่อค่า pH ต่ำลง
3. แหล่งที่มาของสารกรดในบรรยากาศ
สารมลพิษที่เป็นตัวการทำให้เกิดสารกรดในบรรยากาศ (Acid Precursors) ที่สำคัญๆ มีอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรก คือ ก๊าซออกไซด์ของซัลเฟอร์ ซึ่งรวมถึงก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และก๊าซซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ (SO3) และชนิดที่สอง คือ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ซึ่งรวมถึงก๊าซไนตริคออกไซด์ (NO) และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) แหล่งที่มาของสารมลพิษเหล่านี้ มีทั้งที่เป็นแหล่งธรรมชาติ (Natural Sources) และแหล่งมนุษย์สร้าง (Man-made Sources) หรือที่เป็นกิจกรรมของมนุษย์
แหล่งธรรมชาติที่ทำให้เกิดสารกรดในบรรยากาศ ได้แก่ การคุและการระเบิดของภูเขาไฟ ไฟไหม้ป่าตามธรรมชาติ ทะเลและมหาสมุทร การเน่าเปื่อยและการย่อยสลายของซากพืช สัตว์ และสารอินทรีย์ประเภทต่างๆ เป็นต้น แหล่งธรรมชาติมีบทบาทความสำคัญต่อการตกสะสมของกรดน้อยกว่าแหล่งมนุษย์สร้าง
ก๊าซออกไซด์ของซัลเฟอร์และก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ส่วนใหญ่ถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทต่างๆ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงานมาให้มนุษย์เราใช้อยู่ทุกวันนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้แก่ การเผาถ่านหินและน้ำมันเตาในโรงไฟฟ้าและโรงงาน อุตสาหกรรม การเผาขยะ และการเผาน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และน้ำมันเจต ในยานพาหนะประเภทต่างๆ เช่น รถยนต์ รถบรรทุก รถโดยสารประจำทาง รถไฟ เรือ และเครื่องบิน เป็นต้น
ก๊าซออกไซด์ของซัลเฟอร์เกิดจากการรวมตัวของสารกำมะถันในเชื้อเพลิงฟอสซิลกับก๊าซออกซิเจนในอากาศขณะเผาไหม้ โดยปริมาณก๊าซออกไซด์ของซัลเฟอร์ที่เกิดขึ้นจะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณเชื้อเพลิงที่เผาและปริมาณสารกำมะถันที่เจือปนอยู่ในเชื้อเพลิงนั้น นอกจากนี้ก๊าซออกไซด์ของซัลเฟอร์ยังเกิดจากอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมผลิตกรดกำมะถัน และอุตสาหกรรมถลุงสินแร่โลหะที่มีสารกำมะถันเจือปนอยู่ เช่น ทองแดง สังกะสี และตะกั่ว เป็นต้น
ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนเกิดขึ้นในระหว่างการเผาเชื้อเพลิงประเภทต่างๆเช่นเดียวกับก๊าซออกไซด์ของซัลเฟอร์ โดยเกิดจากการรวมตัวของก๊าซไนโตรเจนในอากาศและสารไนโตรเจนในเชื้อเพลิงกับก๊าซออกซิเจนในอากาศในระหว่างการเผาไหม้ ยิ่งอุณหภูมิการเผาไหม้สูงๆ และมีปริมาณก๊าซออกซิเจนในการเผาไหม้มากๆ จะยิ่งเกิดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนมาก นอกจากนี้ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนยังเกิดจากอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตกรดดินประสิวและสารประกอบ อุตสาหกรรมผลิตปุ๋ย และอุตสาหกรรมผลิตวัตถุระเบิด เป็นต้น
จากการคาดประมาณ พบว่าบนโลกของเรามีปริมาณก๊าซออกไซด์ของซัลเฟอร์ที่เกิดจากธรรมชาติน้อยกว่าร้อยละสิบของปริมาณก๊าซออกไซด์ของซัลเฟอร์ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล และเช่นเดียวกัน ปริมาณก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลมีเป็นสองเท่าของปริมาณก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนที่เกิดจากธรรมชาติ สำหรับประเทศไทยของเรา ในปี พ.ศ. 2541 จากการคาดประมาณ พบว่าการปล่อยก๊าซออกไซด์ของซัลเฟอร์และก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตพลังงานในรูปแบบต่างๆ มีปริมาณรวมกันทั่วประเทศ 0.884 ล้านตัน และ 0.904 ล้านตัน ตามลำดับ
4. กลไกการตกสะสมของกรด
ก๊าซออกไซด์ของซัลเฟอร์และออกไซด์ของไนโตรเจนที่ถูกปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดเข้าสู่บรรยากาศ จะถูกเปลี่ยนไปเป็นกรดซัลฟูริคและกรดไนตริคด้วยปฏิกริยากับออกซิเจนและความชื้นแล้วตกกลับสู่พื้นดิน ในเวลาต่อไปนานเข้าจะเกิดการสะสมของกรดขึ้น การตกสะสมของกรดเกิดได้ 2 ทาง คือ การตกสะสมเปียก และการตกสะสมแห้ง
การตกสะสมเปียก (Wet Deposition) เป็นกระบวนการที่กรดซัลฟูริค และ กรดไนตริคในบรรยากาศรวมตัวกับเมฆ และต่อมากลายเป็นฝนตกลงสู่พื้นดิน ที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ฝนกรด หรือ ในรูปของหิมะ และหมอกที่มีสภาพเป็นกรด
การตกสะสมแห้ง (Dry Deposition) เป็นการตกของกรดในสภาวะที่ไม่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ การตกของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน และอนุภาค/ละอองซัลเฟตและไนเตรท กรดที่แขวนลอยในบรรยากาศจะถูกพัดพาไปโดยลมและตกสะสมบนผิวดิน ต้นไม้ สิ่งก่อสร้าง รวมถึงการเข้าสู่ระบบการหายใจของมนุษย์ด้วย
การตกสะสมของกรดจะทำให้ดิน แหล่งน้ำจืด และอื่นๆ มีสภาพความเป็นกรดมากขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น ต้นไม้และปลา ผลกระทบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของกรดที่ตกสะสม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง กรดอ่อน (ค่า pH สูง) ที่ตกลงมาในปริมาณมากจะก่อให้เกิดผลกระทบสูงกว่ากรดแก่ (ค่า pH ต่ำ) แต่ตกในปริมาณน้อย การประเมินผลกระทบจึงไม่ได้ดูที่ค่า pH อย่างเดียว เราจะต้องพิจารณาปริมาณการตกสะสมของกรดโดยรวมด้วย
5. ผลกระทบของการตกสะสมของกรด
ฝนกรดเมื่อตกลงมาในแหล่งน้ำและผืนดิน ก็จะทำให้น้ำและดินมีความเป็นกรดมากขึ้น เกิดความเสียหายกับพืช สัตว์ มนุษย์ และระบบนิเวศวิทยา รวมทั้งก่อให้เกิดการสึกกร่อนของวัสดุต่างๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้
5.1 ผลกระทบของการตกสะสมของกรดต่อวัสดุ
สารประกอบซัลเฟอร์สามารถกัดกร่อนวัสดุและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ได้ เป็นตัวเร่งให้เกิดการกัดกร่อนของโลหะ การลดความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศจาก 0.15 ppm ไปที่ 0.05 ppm จะสามารถลดอัตราการกัดกร่อนของสังกะสีลงได้สี่เท่า ส่วนอลูมิเนียมค่อนข้างจะคงทนต่อก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อย่างไรก็ตามที่ความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 70% อัตราการกัดกร่อนจะเพิ่มสูงขึ้น ละอองกรดซัลฟูริคยังสามารถกัดกร่อนวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ได้อีกหลากหลายชนิด รวมทั้งหินปูน หินอ่อน หินชนวน กระเบื้องหลังคา และปูนซิเมนต์ โดยเมื่อทำปฏิกริยาจะกลายเป็นสารละลายแคลเซียมซัลเฟตเกิดการสึกกร่อนขึ้น เมื่อถูกฝนชะล้างออกไปพื้นผิวหน้าวัสดุถูกเปิดการกัดกร่อนก็จะกินลึกลงไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และกรดซัลฟูริคจะทำให้เส้นไนล่อนลดความแข็งแรงลงด้วย
5.2 ผลกระทบของการตกสะสมของกรดต่อป่าไม้และธาตุอาหารพืช
ฝนกรดเป็นเป็นพิษต่อพืชโดยตรง พืชที่ไวต่อกรด เมื่อถูกฝนกรดจะไหม้เป็นแผลและตายไป ส่งผลให้ป่าไม้ถูกทำลาย ปฏิกิริยาของฝนกรดที่ส่งผลกระทบต่อพืช มีดังนี้
- ฝนกรดมีผลเสียหายโดยตรงต่อพืชและการสังเคราะห์แสง
- ฝนกรดมีผลต่อการแลกเปลี่ยนไอออน (Ion Exchange) มีผลต่อการสูญเสียธาตุอาหาร ที่เป็นแคทไอออนเบส เช่น แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) โปแตสเซียม (K) ของพรรณไม้ในป่าและมีผลต่อการลดลงของธาตุฟอสฟอรัส (P) และไนโตรเจน (N) ในต้นไม้ในป่าด้วย การสูญเสีย Ca และ Mg มีผลต่อผนังเซลล์ในคอร์เท็กซ์ มีผลต่อการส่งลำเลียงน้ำ ซึ่งกระทบต่อการเจริญเติบโตของไม้ยืนต้น
- กรดกำมะถันทำให้อะลูมิเนียมและธาตุโลหะหนักในดินละลาย และเป็นอันตรายต่อรากฝอยในพืช ทำให้การดูดน้ำและการเจริญเติบโตของพืชลดลง และทำให้พืชอ่อนแอ เกิดการทำลายโดยโรคราและแมลงได้มากขึ้น
- ทำให้การทดแทนของพรรณไม้ในป่าลดลง และเกิดการยืนตายของต้นไม้จากบนลงล่าง (dieback) ของพรรณไม้ในป่า
- ฝนกรดมีผลให้ผลิตผลของพืชเศรษฐกิจเช่น ถั่วเหลือง ลดลง
นอกจากนี้ SO2 ที่อยู่ในบรรยากาศยังไปปิดปากใบทำให้การสังเคราะห์แสงลดลง ใบเหลือง และร่วงหล่นลงในที่สุด ยิ่งกว่านั้น SO2 , NH3 และ O3 ในบรรยากาศทำให้ความต้านทานต่อความหนาวเย็นของพืชพรรณใน เขตอบอุ่นและเขตหนาวลดลง
5.3 ผลกระทบของการตกสะสมของกรดต่อดิน
การตกสะสมของกรดมีผลกระทบต่อสมบัติของดินและสภาพแวดล้อมในดิน โดยมีผลทำให้ดินมีความเป็นกรดมากขึ้น ทำให้ธาตุอาหารพืชบางชนิด เช่น Ca , Mg และ K สูญเสียไปเนื่องจากถูกทำให้เคลื่อนที่ลงไปในดินชั้นล่างนอกบริเวณรากพืชโดยกระบวนการทางเคมี ซึ่งมีผลทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง นอกจากนั้นทำให้ธาตุโลหะหนักในดิน เช่น แคดเมียม (Cd) ตะกั่ว (Pb) และปรอท (Hg) และธาตุโลหะหนักอื่นๆ ละลายออกมาได้มากขึ้น ทำให้ดินมีแนวโน้มที่เกิดมลพิษเนื่องจากการปนเปื้อนของโลหะหนักมากขึ้น มีผลต่อเนื่องให้พืชที่ปลูกในบริเวณดังกล่าวดูดโลหะหนักขึ้นไปสะสมไว้ในต้นและผลผลิตซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ความเป็นกรดของดินที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการตกสะสมของกรดมีผลกระทบต่อจำนวนและ กิจกรรมของจุลินทรีย์ดินบางชนิด ทำให้การย่อยสลายวัสดุอินทรีย์และวัฎจักรของธาตุอาหารบางชนิดเปลี่ยนแปลงไป การลดลงของจำนวนจุลินทรีย์ในดินมีผลต่อวัฏจักรคาร์บอน และวัฏจักรไนโตรเจน การตรึงไนโตรเจนของสาหร่าย และดินจะลดลง
การลดลงของค่า pH ในดินที่ได้รับฝนกรดจะไม่เท่ากัน ขึ้นกับชนิดของดินและการแลกเปลี่ยนของแคทไอออน (Cation Exchange Capacity, CEC) ดินที่มีความไวต่อฝนกรด จะมีค่า pH ลดลงตามค่า CEC คือ CEC ต่ำมีความไวต่อฝนกรดมาก ธาตุอาหารในดินจะถูกชะล้างไป อะลูมิเนียม (Al) จึงถูกปล่อยเป็นอิสระและเป็นธาตุที่เป็นพิษ เมื่อถูกรากพืชดูดขึ้นไปแทนที่ Ca และ Mg จะมีผลทำให้พืชขาดธาตุอาหารเหล่านี้แล้วตายไปในที่สุด
5.4 ผลกระทบของการตกสะสมของกรดต่อแหล่งน้ำ
เมื่อฝนกรดตกลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจะทำให้แหล่งน้ำมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของปลาเป็นอย่างมาก ปลาบางชนิดจะมีความไวต่อค่า pH ต่ำ ปลาหลายชนิดจะหยุดขยายพันธุ์เมื่อค่า pH ต่ำกว่า 5.5 นอกจากนั้นปริมาณของแพลงตอนจะลดลงเมื่อค่า pH ของน้ำต่ำลงและจะมีผลต่อเนื่องถึงปลาและสัตว์น้ำต่างๆ เพราะแพลงตอนเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ และในที่สุด ห่วงโซ่อาหารจะถูกทำลายไป
5.5 ผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย
ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในด้านของระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก ผลกระทบมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอากาศ ปฏิกริยาและความไวในการรับก๊าซนี้ของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน ผู้ที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นในสิ่งแวดล้อม เช่น เป็นโรคหอบ หืด จะได้รับผลกระทบจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในระดับที่สูงกว่าผู้ที่มีสุขภาพปกติ
ผลกระทบของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต่อสุขภาพของประชาชนมีทั้งที่เป็นผลกระทบเฉียบพลันและเรื้อรัง
ผลกระทบเฉียบพลัน
- อาการระคายเคืองเยื่อบุต่างๆ ได้แก่ เยื่อบุตา เยื่อบุคอและเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการแสบ คัน เคืองและอาจตามมาด้วยการติดเชื้อภายหลังจากการระคายเคือง
- อาการผิดปกติต่อทางเดินหายใจทำให้เกิดการบีบรัดตัวของท่อทางเดินหายใจทั้งส่วนปลายและหลอดลมขนาดเล็ก ทำให้มีอาการหายใจลำบากมีอาการหอบหืด แน่นหน้าอก
- สมรรถภาพการทำงานของปอดลดลง
- อาการระคายเคืองต่อผิวหนัง
- มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้น วิงเวียนศีรษะรบกวนประสาทสัมผัสและอาจมีอาการซึมเศร้าได้
ผลกระทบเรื้อรัง
ทำให้ทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่างอักเสบเรื้อรัง และมีโอกาสติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อยขึ้นและง่ายขึ้นแต่ยังไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับมะเร็งปอด
5.6 กรณีตัวอย่างปัญหาการตกสะสมของกรดในประเทศไทยในพื้นที่แม่เมาะ
โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มีหน่วยผลิตกระแสไฟฟ้า 13 หน่วย มีกำลังผลิตทั้งหมด 2,625 เมกกะวัตต์ และมีการใช้ถ่านลิกไนต์ที่มีกำมะถันสูงในการผลิตกระแส ไฟฟ้า (มีกำมะถันเฉลี่ยร้อยละ 3 โดยน้ำหนัก) ในปี 2535 โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในปริมาณสูง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และจากการสะสมของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศ ทำให้ประชาชนมีอาการเจ็บป่วยทางด้านระบบทางเดินหายใจ เช่น แสบคอ แสบตา ไอ และหายใจลำบาก โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้วจะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนที่มีสุขภาพปกติและยังมีผลกระทบทำให้พืฃผลการเกษตรเสียหาย โรงไฟฟ้าแม่เมาะต้องจ่ายค่าชดเชยต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ รวมมากกว่า 50 ล้านบาท จากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษดังกล่าวทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะยาวให้มีการติดตั้งระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่เรียกว่า Flue Gas Desulfurization หรือ FGD ในหน่วยผลิตกระแสไฟฟ้าที่ 4-13 และงานติดตั้งทั้งหมดแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2543 รวมเงินลงทุนทั้งหมดมากกว่า 6 พันล้านบาท FGD นี้สามารถลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้มากกว่าร้อยละ 90 คือจะมีปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลดลงจาก 150 ตัน/ชั่วโมง เหลือประมาณ 15 ตัน/ชั่วโมง ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในช่วงที่อยู่ระหว่างการติดตั้ง FGD นั้นได้กำหนดให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะใช้ถ่านลิกไนต์ที่มีกำมะถันต่ำและลดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าลง เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ให้ต่ำลง
ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ท่านจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเพื่อป้องกันปัญหาการตกสะสมของกรดไม่ไห้เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง ต่อไปนี้เป็นบางสิ่งบางอย่างที่ท่านจะสามารถมีส่วนร่วมช่วยกันได้
- เลือกใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรกลต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสูง
- อย่าซื้อและใช้ของที่ท่านไม่มีความจำเป็นต้องใช้จริงๆ
- อย่าใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง เช่น
- ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ในบ้านและสำนักงาน เช่น เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ พัดลม และไฟ เมื่อไม่ใช้งาน
- ตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสม (ประมาณ 25 oC) ไม่ให้เย็นเกินความจำเป็น
- วางแผนเส้นทางการเดินทางไว้ล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด จะได้ลดความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง
- ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลง และเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งมวลชน เช่น รถโดยสารประจำทาง รถไฟ และรถไฟฟ้าราง หรือเดินทางร่วมกับผู้อื่น (Car Pooling หรือ Ride Sharing) หรือใช้รถจักรยานแทน
- หมั่นดูแลและบำรุงรักษาเครื่องยนต์และเครื่องจักรต่างๆ ให้มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา
- ลดการทำให้เกิดขยะและของเสียต่างๆ เพื่อลดการใช้พลังงานในการกำจัดของเสีย
- ลดการใช้น้ำและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ
เนื่องจากปัญหาการตกสะสมของกรดเป็นปัญหามลพิษที่ไร้พรมแดน ก๊าซออกไซด์ของซัลเฟอร์และก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนที่ถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศจากประเทศหนึ่ง อาจไปทำให้เกิดสารกรดในบรรยากาศและตกสะสมลงสู่แหล่งน้ำและผืนดินในอีกประเทศหนึ่งหรือหลายๆ ประเทศที่อยู่ห่างออกไปเป็นพันๆ กิโลเมตรได้ ดังนั้น ในการควบคุมและป้องกันปัญหาการตกสะสมของกรด นอกจากจะต้องทำกันในแต่ละประเทศแล้ว ยังต้องทำเป็นเครือข่ายของความร่วมมือกันระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคด้วย จึงจะประสบผลสำเร็จได้
ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ