ไดอ๊อกซินคืออะไร?
ไดอ๊อกซิน (dioxins) เป็นผลิตผลทางเคมีที่เกิดขึ้นมาโดยมิได้ตั้งใจผลิต (unintentionalproducts) จากกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เป็นสารประกอบในกลุ่มคลอริเนตเตทอะโรเมติก (chlorinated aromatic compounds) ที่มีออกซิเจน(O) และคลอรีน(Cl) เป็นองค์ประกอบ 1 ถึง 8 อะตอม ไดอ๊อกซินมีชื่อเรียกเต็ม คือ โพลี่คลอริเนตเตท ไดเบนโซ่ พารา-ไดอ๊อกซิน (polychlorinated dibenzo-para-dioxins : PCDDs) สารในกลุ่มไดอ๊อกซินมีทั้งหมด 75 ชนิด สารประกอบที่คล้ายคลึงกับกลุ่มไดอ๊อกซินอีกกลุ่มหนึ่ง คือ “ฟิวแรน (furans) หรือมีชื่อเรียกเต็มว่า โพลีคลอริเนตเตท ไดเบนโซ่ ฟิวแรน (polychlorinated dibenzo furans : PCDFs) มีอยู่ 135 ชนิด สารฟิวแรน (PCDFs) แตกต่างจากกลุ่ม "ไดอ๊อกซิน(PCDDs)" ก็โดยมีออกซิเจนน้อยกว่าอยู่ 1 อะตอม โดยทั่วไปนักวิชาการมักเรียกรวมและรู้จักกันทั่วว่า "ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน" หรือ “PCDDs/PCDFs” เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากทั้งด้านคุณสมบัติ ความเป็นพิษ และแหล่งกำเนิด สารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน สามารถผลิตขึ้นมาได้จากปฏิกิริยาเคมีระหว่างสาร 4,5-dichlorocatechol และ สาร 2,5-dinitro-1,4-dichlorobenzene ทั้งนี้เพื่อใช้สำหรับการศึกษาและเป็นสารมาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์เท่านั้น และยังไม่เคยมีรายงานจากแหล่งใดๆ ว่าผลิตมาเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ
โครงสร้างของไดอ๊อกซินและฟิวแรน
![]() | 2,3,7,8 Tetrachloro dibenzo dioxin (2,3,7,8 Tetra CDD) ----------------------------------------- 2,3,7,8 Tetrachloro dibenzo (2,3,7,8 Tetra CDF) |
ชนิดของสารไดอ็อกซิน/ฟิวแรน
สารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน มีทั้งหมด 210 ชนิด (75+135) ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่สารคลอรีน (Cl) ไปประกอบอยู่บนวงแหวนเบนซีน (benzene ring) สาร 210 ชนิดนี้ส่วนใหญ่ไม่มีผลร้ายกับสุขภาพมนุษย์มากนักมีอยู่เพียง 17 ชนิด เท่านั้นที่มีรายงานว่ามีพิษร้ายแรงและเป็นอันตรายต่อมนุษย์ คือ 1) 2,3,7,8-TetraCDD, 2)1,2,3,7,8-PentaCDD, 3)1,2,3,4,7,8-HexaCDD, 4)1,2,3,6,7,8-HexaCDD, 5)1,2,3,7,8,9-HexaCDD, 6)1,2,3,4,6,7,8-HeptaCDD, 7)OctaCDD, 8)2,3,7,8-tetraCDF, 9)1,2,3,7,8-PentaCDF, 10)2,3,4,7,8-PentaCDF, 11)1,2,3,4,7,8-HexaCDF, 12)1,2,3,6,7,8-HexaCDF, 13)1,2,3,7,8,9-HexaCDF, 14)2,3,4,6,7,8-HexaCDF, 15)1,2,3,4,6,7,8-HeptaCDF, 16)1,2,3,4,7,8,9-HeptaCDF, 17)OctaCDF และชนิดที่มีพิษร้ายแรงที่สุดก็คือ 2,3,7,8-TCDD
การตรวจวัดปริมาณความเข้มข้นของสารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน หรือ PCDDs/PCDFs ที่ปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมจะทำการวัดกันในระดับที่ต่ำมากๆ กว่าสารพิษชนิดอื่นใดโดยจะนิยมวัดกันที่ระดับ นาโนกรัม (nanogram, ng) หรือ 0.000000001 g หรือ 10-9 g และที่ระดับ พิโคกรัม (picogram, pg) หรือ 0.000000000001 g หรือ 10-12 g ต่อ น้ำหนักดิน 1 กิโลกรัม(kg) หรือปริมาตรอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร(m3)หรือ น้ำ 1 ลิตร ( l )
ความเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (หนูและกระต่าย)
พิษเฉียบพลัน
ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน ไม่ทำให้เกิดอาการพิษหรือตายอย่างทันทีแต่อาการจะค่อยๆ เกิดและเพิ่มความรุนแรงจนถึงตายได้ อาการเฉียบพลันที่ปรากฏคือ ทำให้เกิดโรคผิวหนังที่เรียกว่า “Chloraone” คือมีผิวหนังขึ้นเป็นสิวหัวดำ มีถุงสีน้ำตาลอมเหลืองของผิวหนังบริเวณหลังใบหู ขอบตา หลัง ไหล่ และบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ อาจมีขนขึ้นในบริเวณที่ปกติจะไม่มีขึ้น ผิวหนังมีสีเข้มขึ้น สีของเล็บเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เยื่อบุตาอักเสบและมีขี้ตา
มีรายงานการเกิดอาการ“Chloraone” นี้ในคนที่อยู่ในบริเวณที่ได้รับการปนเปื้อน ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน ที่อิตาลี ไต้หวัน และญี่ปุ่น
พิษเรื้อรัง
ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน ทำให้น้ำหนักตัวลดลง เกิดความผิดปกติที่ตับ เซลล์ตับตาย และเกิดอาการโรคผิวหนังอักเสบ
การเป็นสารก่อมะเร็ง
สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างชาติได้จัดให้สาร ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์จากการที่มีข้อมูลทางระบาดวิทยายืนยัน และจากการศึกษาระยะยาวในสัตว์ทดลองพบว่า สารนี้ทำให้เกิดมะเร็งหรือเนื้องอกในอวัยวะต่างๆ ของหนูโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตับ ซึ่งได้รับสารปริมาณน้อยมากแค่ 10 นาโนกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัวเท่านั้น นอกจากตับแล้วยังพบว่าสารนี้ทำให้เกิดเป็นเนื้องอกในอวัยวะต่างๆ ของหนูได้ เช่น ลิ้นแผ่นกั้นช่องจมูก เพดานปากส่วนแข็ง ต่อมไทรอยด์ ชั้นนอกของต่อมหมวกไต ชั้นใต้ผิวหนัง และปอด ต่อมไทรอยด์เป็นตำแหน่งไวที่สุดที่ทำให้เกิดมะเร็งในหนู ซึ่งระดับไดอ๊อกซินต่ำที่สุดที่ได้รับคือ 1.4 นาโนกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว อย่างไรก็ตามการศึกษากลไกของการเกิดมะเร็งพบว่าสารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน ไม่ใช่สารก่อเซลล์มะเร็งโดยตรง (tumor initiator) หรือถ้าเป็นก็มีฤทธิ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เป็นสารสนับสนุนการเกิดมะเร็ง (tumor promotor) ที่มีความรุนแรงมากที่สุด
ความเป็นพิษต่อระบบประสาท
มีรายงานว่าเกิดโรคระบบประสาทในคนงานที่ได้รับสารนี้จากการหกรดหรือปนเปื้อนในอุตสาหกรรม โดยมีอาการกล้ามเนื้อมือเสื่อมไม่มีกำลัง มีการแสดงอาการโรคประสาท เช่น การสูญเสียความรับรู้บนเส้นประสาท ปลายมือ และปลายเท้าอ่อนเพลีย เป็นต้น สำหรับหนูทดลองพบว่า ขาหน้าไม่มีแรงในการจับยึด เดินหมุนเป็นวง ไม่สามารถไต่กรงได้และความรับรู้ผิดปกติ
ความเป็นพิษต่อภูมิคุ้มกัน
การศึกษาทางระบาดวิทยาของคนพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของระดับภูมิคุ้มกันบางชนิดในบางกลุ่มคนที่ ได้รับสารไดอ๊อกซินจากอุบัติการณ์การปนเปื้อน เช่น ที่อิตาลีและที่รัฐมิสซูรี่ สหรัฐอเมริกา
ความผิดปกติต่อการสืบพันธุ์
สารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในกระแสเลือดซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์ทดลองและปริมาณของสาร ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ของสัตว์เพศผู้และเพศเมีย ลักษณะทั่วไปในเพศเมียคือการผสมติดของสัตว์ลดลงหรือไม่สามารตั้งท้องได้จนครบกำหนด จำนวนลูกต่อครอกลดลง การทำงานของรังไข่ผิดปกติหรือไม่ทำงาน วงจรของระดูหรือการเป็นสัดผิดปกติ และมีเนื้อเยื่อบุมดลูกเจริญเติบโตภายนอกมดลูก
ในเพศผู้พบว่าสารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน ทำให้น้ำหนักของอัณฑะและอวัยวะอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ลดลง อัณฑะมีรูปร่างผิดปกติ การสร้างเชื้ออสุจิลดลง และการผสมติดลดลง สัตว์ที่มีความไวต่อสารได้แก่ ลิงและหนูชนิดต่างๆ ระดับต่ำสุดที่ 1 ไมโครกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/วัน และได้รับต่อเนื่องกันนาน 13 สัปดาห์ ทำให้การสร้างอสุจิลดลง
ความผิดปกติในทารก
จากการศึกษาสัตว์ทดลองตัวเมียและผลการศึกษาทางระบาดวิทยาของคนที่ประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันพบว่าสารนี้มีความเป็นพิษต่อการพัฒนาตัวอ่อนหรือทารกซึ่งมีผลกระทบ 3 รูปแบบคือ 1) ทำให้ตัวอ่อน/ทารกผิดปกติและตายก่อนครบกำหนด 2) ทำให้ทารกมีโครงสร้างผิดปกติ 3) ทำให้การทำงานของอวัยวะและเนื้อเยื่อบางชนิดผิดปกติ
การศึกษาในมารดาพบว่าการได้รับสารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรนที่ปนเปื้อนในน้ำมันรำข้าวที่ประเทศจีนทำให้มีอัตราการตายของทารกในช่วงตั้งครรภ์สูง ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ปกติซึ่งแสดงถึงการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าปกติของทารก ทารกบางรายเกิดมามีรูปร่างผิดปกติ ที่เกาะไต้หวันพบว่าทารกที่เกิดมามีอาการผิดปกติของระบบประสาท มีการพัฒนาทางสติปัญญาช้ากว่าปกติและมีพฤติกรรมประสาทผิดปกติ
ลักษณะผิดปกติที่เด่นชัดของทารกในครรภ์คือผิวหนังและเยื่อบุมีสีเข้มกว่าปกติ เล็บมือและเท้ามีสีเข้มและผิดรูปผิดร่าง ขับสารออกมากกว่าปกติ เยื่อบุตาอักเสบ เหงือกมีการบวมขยายใหญ่ ทารกแรกเกิดมีฟันขึ้นแล้ว การขึ้นของฟันแท้ผิดปกติหรือไม่มีฟันแท้ขึ้น และรากฟันมีรูปร่างผิดปกติ ลักษณะของฟันที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติก็พบได้ในทารกที่ดื่มน้ำนมมารดาที่มีสารไดอ็อกซิน/ฟิวแรน ปนเปื้อนอยู่
การรับสารของมนุษย์
ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน เป็นสารที่มีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมและละลายได้ดีในไขมันจึงสะสมได้ในสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบมากกว่าพืช เมื่อมนุษย์บริโภคพืชและสัตว์ก็จะได้รับสารนี้ด้วย ปริมาณของสารที่มนุษย์ได้รับแต่ละวันจึงขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่แต่ละคนบริโภคและปริมาณของสารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน ที่ปะปนอยู่ในอาหารแต่ละชนิด อาหารที่มีการปนเปื้อนมากตามลำดับคือ เนื้อ ผลิตภัณฑ์นม ปลา ไข่ ผักและผลไม้ นอกจากนี้มนุษย์ยังสามารถรับสารนี้ได้จากอากาศและน้ำ อีกด้วย
แหล่งสำคัญที่ได้รับสารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน คือจากอาหาร สัตว์ทดลองมีความสามารถในการดูดซึมสารได้มากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณที่ได้รับ มนุษย์สามารถดูดซึมได้มากกว่าร้อยละ 87 ของปริมาณที่ได้รับ การดูดซึมทาง ผิวหนังพบว่าเกิดขึ้นได้น้อยกว่าทางปาก ส่วนการหายใจจะได้รับสารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน จากการใช้เตาเผาชนิดต่างๆ ซึ่งปล่อยอนุภาคที่มีสารนี้ปนเปื้อนอยู่ ดังนั้นการสูดอากาศที่มีเศษขี้เถ้าและฝุ่นที่มีสารนี้ปนเปื้อนอยู่จึงเป็นสาเหตุทำให้ ร่างกายได้รับสารนี้เข้าไป สารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน ที่อยู่ในลำไส้จะถูกดูดซึมผ่านทางระบบน้ำเหลืองเข้าสู่กระแสโลหิตและเคลื่อนย้ายเข้าสู่เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย โดยทั่วไปการแพร่กระจายสู่เนื้อเยื่อจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากมีการดูดซึมสู่กระแสโลหิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อเยื่อที่มีเลือดมาหล่อเลี้ยงมาก เช่น ต่อมหมวกไต หรือเนื้อเยื่อที่มีไขมันปริมาณมากเช่น กล้ามเนื้อ หลังจากนั้นจะไปสะสมอยู่มากที่สุดในตับและรองลงมาคือที่เนื้อเยื่อไขมัน นอกจากนั้นก็พบบ้างที่ไต สมอง ปอด หัวใจ ต่อมไทมัส และอัณฑะ สารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน สามารถสะสมอยู่ในร่างกายของมนุษย์และสัตว์เป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามสารนี้บางส่วนจะถูกเมทตาโบไลท์ภายในร่างกายและถูกขับออกทางปัสสาวะและน้ำดี ส่วนทางอุจจาระมีน้อยมาก
การสร้างและการปลดปล่อยสารไดอ็อกซิน/ฟิวแรน
ดังที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นว่าสารกลุ่มนี้เกิดขึ้นในรูปของผลผลิตพลอยได้จากหลายกระบวนการและแพร่กระจายไปสู่สิ่งแวดล้อมในอีกลักษณะหนึ่งอาจจะมีปรากฎอยู่ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมในรูปของวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ สารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน เป็นสารที่มีความคงทนยาวนานในสิ่งแวดล้อมและสามารถเคลื่อนย้ายจากอากาศสู่ดิน จากดินสู่พืช หรือจากดินสู่น้ำโดยการชะล้างและเข้าสู่มนุษย์และสัตว์ต่อไป โดยปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำที่ใช้บริโภค
- กระบวนการผลิตเคมีภัณฑ์ ในกลุ่มนี้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประเภท คลอริเนตเตท ฟีนอล (chlorinated phenols) และตัวทำละลายที่มีสารคลอรีน (chlorinated solvents) นอกจากนี้ยังรวมอุตสาหกรรมผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
- กระบวนการเผาไหม้อุณหภูมิสูงทุกชนิด ในกลุ่มนี้รวมถึงเตาเผากากของเสียทุกชนิด เช่น เตาเผาขยะทั่วไป เตาเผาขยะสารอันตรายหรือกากอุตสาหกรรม เตาเผาขยะติดเชื้อ หรือของเสียจากโรงพยาบาล และเตาเผาศพ เผาซากสัตว์ การเผาไหม้เชื้อเพลิงที่เป็นทั้งของแข็ง และของเหลวและกระบวนการหลอมโลหะโดยใช้ความร้อนสูง
- กระบวนการทางชีวภาพซึ่งอาจมีการสร้างสาร PCDDs/PCDFs ขึ้นมา การย่อยสลายและการหมัก
- แหล่งกักเก็บต่างๆ เช่น บริเวณที่ทับถมด้วยกองขยะและดินซึ่งมีสาร PCDDs/PCDFs ปนเปื้อนสะสมอยู่เป็นเวลายาวนาน
วงจรการผลิตไดอ๊อกซินและฟิวแรน
ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน เข้าสู่แหล่งน้ำได้จากการปล่อยน้ำเสีย การชะล้างจากบริเวณปนเปื้อนหรือจากผลิตภัณฑ์ ปนเปื้อน เช่น การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ประเภทออร์แกนโนคลอรีน (organochlorine) การทิ้งกาก ของเสีย ฯลฯ การปล่อยน้ำเสียจากอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการเกี่ยวกับการสร้าง PCDDs/PCDFs กล่าวคือ 1) น้ำเสียจากกระบวนการผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษ (pulp and paper) ที่มีการใช้สารคลอรีนในการฟอกสี 2) น้ำเสียจากกระบวนการผลิตเคมีภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสารคลอรีน 3) น้ำเสียจากอุตสาหกรรมฟอกย้อม เส้นใย หนัง ไม้ที่ใช้สีย้อมหรือน้ำยารักษาคุณภาพของวัตถุดิบที่มี PCDDs/PCDFs เจือปนอยู่ 4) น้ำเสียจากบ้านเรือนทั่วไป เช่น เครื่องซักผ้า และเครื่องล้างชาม เป็นต้น และ 5) น้ำเสียจากกิจกรรมการผลิตและสถานที่ของกิจกรรมที่มีการใช้สารหรือวัตถุดิบที่ ปนเปื้อนด้วย PCDDs/PCDFs เช่น สถานที่ผลิตและใช้สารคลอโรฟีนอล (chlorophenol) โรงเลื่อย สุสานรถยนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีน้ำมันหกรดอยู่ น้ำเสียจากเตาเผาขยะ เป็นต้น
การปลดปล่อยสู่น้ำ

การปลดปล่อยสู่ดิน
ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรนถูกปลดปล่อยไปสู่ดินได้โดยการทิ้งหรือการปลดปล่อยผลิตภัณฑ์ที่มี PCDDs/PCDFs ปนเปื้อนอยู่โดยตรงหรือสารนี้สะสมตัวอยู่ในดินโดยผ่านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น จากอากาศสู่ดินดังที่กล่าวแล้ว และสารที่สะสมอยู่ในดินก็จะผ่านเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร (food chain) และถูกดูดซึมเข้าสู่พืชและสัตว์ต่อไป PCDDs/PCDFs ในดินส่วนใหญ่โดยตรงมาจากผลิตภัณฑ์หรือกากของเสียจากสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สารรักษาเนื้อไม้ที่มี PCDDs/PCDFs ปนเปื้อน การนำเอากากของเสียไปใช้ในพื้นที่เกษตร และการนำกากของเสียที่มี PCDDs/PCDFs ปนเปื้อนไปกองทิ้งไว้ เป็นต้น
การปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์
ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรนในผลิตภัณฑ์นี้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารประกอบประเภทออร์แกนโนคลอรีนโดยตรงและผลิตภัณฑ์ที่ใช้คลอรีนในกระบวนการ เช่น กระดาษและเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนสูง เช่น พวกคลอริเนตเตท ฟีนอล และอนุพันธ์ เช่น pentachlorophenol (PCP), 2,4,5-trichlorophenoxyacetic acid (2,4,5 –T หรือที่รู้จักกัน ทั่วไปว่า “ฝนเหลือง และ polychlorinated biphenyls (PCBs) ที่ใช้ใน หม้อแปลงไฟฟ้า และ ตัวเก็บประจุไฟฟ้า ประเทศเยอรมนีได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ปริมาณสาร PCDDs/PCDFs ในผลิตภัณฑ์เคมีและผลิตภัณฑ์สิ่งทอหลายชนิด (ตารางที่ 1 และตารางที่ 2) พบว่าสาร pentachlorophenol เป็นสารที่มีการปนเปื้อน PCDDs/PCDFs สูงสุดถึง 2,320 (g.I-TEQ (g = ng x 1,000)
การปลดปล่อยสู่อากาศ
ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน เข้าสู่บรรยากาศจากแหล่งต่างๆ ทั้งที่เป็นแหล่งคงที่ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการอุตสาหกรรมหรือแหล่งที่ไม่คงที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสาร PCDDs/PCDFs เจือปนอยู่ PCDDs/PCDFs จากทั้งสองแหล่งนี้สามารถอยู่คงที่หรือเคลื่อนย้ายไปได้เป็นระยะทางไกลมากจึงสามารถตรวจวัดได้ทั่วไปแม้แต่จากแหล่งต่างๆ ซึ่งอยู่ห่างไกลมากๆ จากแหล่งที่ปลดปล่อย
ตัวอย่างของกระบวนการที่ปลดปล่อย PCDDs/PCDFs ไปสู่อากาศเช่น กระบวนการเผาไหม้ กระบวนการผลิตโลหะและหลอมโลหะ กระบวนการปิ้งหรือย่าง ตู้อบควัน อุตสาหกรรมที่ใช้ความร้อนสูง เป็นต้น โอกาสที่จะมีการสร้างและปลดปล่อย PCDDs/PCDFs สู่บรรยากาศสามารถเกิดขึ้นได้ในสภาวะใดสภาวะหนึ่งหรือหลายๆสภาวะร่วมกันคือ
1) กระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์เมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 200 องศาเซลเซียส
2) มีสารพวกอินทรีย์คาร์บอน (organic carbon)
3) มีสารคลอรีน (chlorine, Cl)
4) ผลิตภัณฑ์ที่มีสาร PCDDs/PCDFs ปะปนอยู่
การปลดปล่อย PCDDs/PCDFs จากเตาเผาอุณหภูมิสูง
เตาเผา (incinerator) ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเตาเผาขยะชุมชน (municipal waste incinerator) เตาเผาขยะอันตราย (hazardous waste incinerator) เตาเผาขยะติดเชื้อหรือเตาเผาขยะโรงพยาบาล (medical or hospital waste incinerator) และเตาเผาศพ (crematoria) นับเป็นแหล่งสำคัญที่ปลดปล่อย PCDDs/PCDFs ปริมาณมากน้อยขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำเข้าไปเผาซึ่งจะต้องมีส่วนประกอบในสภาวะใดสภาวะหนึ่งหรือหลายๆ สภาวะทั้ง 4 ดังกล่าวแล้วในการเผาที่มีวัสดุใน 3 สภาวะคือ มีสารพวกอินทรีย์คาร์บอน มีสารคลอรีนและมีผลิตภัณฑ์ที่มีสาร PCDDs/PCDFs ปะปนอยู่ จะสามารถผลิตหรือปลดปล่อย PCDDs/PCDFs สู่บรรยากาศได้ ต้องมีตัวแปรหรือสภาวะที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคืออุณหภูมิในการเผาไหม้
การสร้างหรือผลิต PCDDs/PCDFs จากการเผาไหม้จะอยู่ในช่วงอุณหภูมิประมาณ 200-550 องศาเซลเซียส ความเข้มข้นสูงสุดของ PCDDs/PCDFs จะมีอยู่ในก๊าซและเถ้า (ash) ที่อยู่ในปล่องที่อุณหภูมิประมาณ 350 องศาเซลเซียส ความเข้มข้นจะลดลงต่ำสุดเมื่ออุณหภูมิลดลงหรือเพิ่มขึ้นที่ประมาณ 275 และ 420 องศาเซลเซียส ตามลำดับแต่ก็ยังมีสารนี้อยู่ในปริมาณต่ำในช่วง 200-275 องศาเซลเซียสและสูงกว่า 420-550 องศาเซลเซียส โมเลกุลของ PCDDs/PCDFs จะเริ่มถูกทำลาย (break down) เมื่ออุณหภูมิ 850 องศาเซลเซียสขึ้นไปและจะถูกทำลายเกือบสมบูรณ์เมื่ออุณหภูมิขึ้นไปถึง 1,100 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 วินาที อย่างไรก็ตาม PCDDs/PCDFs จะไม่ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงเพราะเมื่ออุณหภูมิลดลงก็จะสร้างขึ้นมาใหม่อีก
การสร้างหรือผลิต PCDDs/PCDFs จะมีปริมาณสูงสุดในช่วงของกระบวนการเริ่มเผาด้วยเชื้อเพลิง ถ้าเชื้อเพลิงมีปริมาณสารคลอรีน (Cl) ต่ำความเข้มข้นก็จะต่ำด้วย ในสภาวะการเผาไหม้ที่คงที่ซึ่งเป็นผลมาจากการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ของก๊าซในปล่อง PCDDs/PCDFs ก็เกือบจะถูกทำลายหมดในห้องเผา แต่ในทางตรงข้ามก๊าซในปล่องที่ไม่ถูกเผาไหม้เนื่องจากสภาวะการเผาไหม้ไม่คงที่จะเป็นผลให้มีความเข้มข้นของ PCDDs/PCDFs สูงในก๊าซที่ออกมา ในอีกส่วนหนึ่งที่ PCDDs/PCDFs ถูกสร้างขึ้นก็คือในส่วนที่เป็นหม้อไอน้ำ (boiler) ซึ่งจะมีการสะสมตัวของกากขี้เถ้าลอย (fly ash) อยู่ในบริเวณนี้ ดังนี้เตาเผาที่มีประสิทธิภาพสูงและกำจัด PCDDs/PCDFs ได้สูงสุดดีกว่ามาตรฐานที่กำหนดก็จะต้องมีอุปกรณ์ที่เผาก๊าซอย่างสมบูรณ์และประกอบด้วยอุปกรณ์กำจัดสารพิษต่างๆ ในก๊าซในปล่องและเถ้าลอย (fly ash) อุปกรณ์นี้เรียกว่า “ เครื่องทำความสะอาดก๊าซ (flue gas cleaner) เมื่อมีการทำความสะอาดดังกล่าวแล้ว ส่วนที่เหลือจากกระบวนการเผาซึ่งเป็น “ เถ้าหนัก (bottom ash) “หรือ” เถ้าลอย (fly ash) “ ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมอื่นๆ ได้ เช่น นำไปใช้ในการก่อสร้างโดยไม่มีอันตรายจากสารไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน
ทำเนียบ (inventory) การปลดปล่อย PCDDs/PCDFs ในประเทศต่างๆ
ประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศได้จัดทำปริมาณการปลดปล่อยสาร PCDDs/PCDFs ในแต่ละปีและได้มีการทำรายงานรวบรวมไว้ได้จาก 14 ประเทศในปี พ.ศ. 2538 พบว่ามีการปลดปล่อยจาก 14 ประเทศ (ภาพที่ 1) ประมาณ 9,700 g. I-TEQ ต่อปี โดยเตาเผาขยะต่างๆ เป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก อังกฤษ เบลเยี่ยม และจีน ส่วนประเทศสวีเดน เยอรมนี ออสเตรีย และออสเตรเลีย ส่วนใหญ่มาจากแหล่งกำเนิดประเภทโรงหลอมโลหะต่างๆ
กลไกทางกฎหมายควบคุมไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน
จากการที่ PCDDs/PCDFs เป็นสารที่มีความเป็นพิษสูงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์แม้ในปริมาณน้อยมาก ประเทศต่างๆ จึงได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์และมาตรฐานต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการควบคุม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้กำหนดไว้ให้มนุษย์สามารถรับสาร PCDDs/PCDFs ในแต่ละวันได้ไม่เกิน 0.04 นาโนกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดความเข้มสูงสุดในน้ำดื่มที่ 0.03 นาโนกรัมต่อลิตร ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีกำหนดความเข้มข้นในน้ำนมไม่ให้เกิน 0.9 นาโนกรัม (ng.I-TEQ) ต่อปริมาณไขมัน 1 กิโลกรัม และถ้าพบว่ามีค่าเกิน 5.0 ng.I-TEQ ก็จะไม่อนุญาตให้มีการจำหน่ายและทำลายผลิตภัณฑ์นมนั้นๆ เสีย
สำหรับมาตรฐานการปลดปล่อยสารสู่บรรยากาศนั้น เนื่องจากเตาเผาอุณหภูมิสูงเกือบทุกชนิดเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญที่สุด ประเทศต่างๆ ที่เจริญแล้วทั่วโลก จึงมีการกำหนดค่ามาตรฐานการปลดปล่อย PCDDs/PCDFs ไว้เป็นปริมาณ “นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของปริมาตรอากาศ” (ตารางที่ 6) การกำหนดมาตรฐานส่วนใหญ่จะใช้หน่วยเดียวกันคือ “นาโนกรัม (nanogram)” หรือมีค่าเท่ากับ 10 –9 g. ซึ่งจะเป็นผลการวัดสาร PCDDs และ PCDFs แต่ละตัว แล้วนำค่าที่วัดได้ไปคูณด้วยค่าเปรียบเทียบความเป็นพิษหรือ “International Toxicity Equivalent Factor (I-TEF)” (ตารางที่ 5 ) แล้วนำผลบวกของแต่ละค่าออกมาเป็นปริมาณ PCDDs/PCDFs ทั้งหมดต่อปริมาณอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตรหรือ Nm 3 (Normalized cubic meter) และเรียกค่านี้ว่า “ ….ng.I-TEQ/Nm 3 “สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกามีการตรวจวัดและกำหนดค่ามาตรฐานเป็นค่ารวม (total) ทั้งหมดของ PCDDs และ PCDFs ที่วัดจริงโดยมิได้นำค่าเปรียบเทียบความเป็นพิษ (I-TEF) มาคูณ ค่าที่ออกมาจึงสูงกว่าค่ามาตรฐานของประเทศต่างๆ ในยุโรปและเอเชียบางประเทศ ค่ามาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกว่า “ ….ng.total/Nm 3 “ ประเทศไทยได้นำระบบของประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้เป็นค่ามาตรฐานสำหรับเตาเผาขยะชุมชนในปัจจุบันนี้เช่นกัน

ระบบเตาเผาขยะสารอันตรายและขยะโรงพยาบาลที่ใช้เทคโนโลยีดีที่สุด (Best Available Technology หรือ BAT)
เตาเผาที่สมบูรณ์แบบในด้านเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพในการเผา การใช้ประโยชน์และกำจัดมลพิษที่สำคัญต่างๆ (ภาพที่ 2) ได้ จะต้องประกอบด้วยส่วนต่างๆ ซึ่งทำงานเป็นระบบอัตโนมัติ คือ
1.ส่วนที่จะป้อนขยะเข้าเตาเผา ซึ่งมีระบบแยกกันตามประเภทของขยะกล่าวคือ เป็นของแข็ง ของเหลว ของแข็งหรือของเหลวเป็นพิษชนิดต่างๆ โดยระบบอัตโนมัติหรือระบบสายพาน ใช้มนุษย์จับต้องน้อยที่สุด พนักงานควบคุมการป้อนขยะต้องมีความรู้ความชำนาญอย่างดี
2.ส่วนที่เป็นเตาเผา ซึ่งอาจจะเป็นระบบตะแกรงนอน (stroker type) หรือระบบเตาหมุน (rotary kiln) จะต้องมีอุณหภูมิสูง 900 องศาเซลเซียสขึ้นไป ปกติแล้วเตาเผาขยะพิษหรือขยะอันตรายต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 1,200 องศาเซลเซียส ขึ้นไป จากนั้นก๊าซที่ถูกเผาไหม้จะผ่านไปห้องเผาที่ 2 หรือ “
3.ส่วนลดอุณหภูมิและการใช้ประโยชน์ ในส่วนนี้ก๊าซจากปล่องที่มีความร้อนสูงจะถูกลดอุณหภูมิลงจนถึงประมาณ 300 องศาเซลเซียส โดยหม้อไอน้ำ (boiler) ซึ่งส่วนนี้เองจะนำไอน้ำไปปั่นไฟใช้ประโยชน์ด้านพลังงานอย่างคุ้มค่า
4.ส่วนที่ทำให้ก๊าซแห้งและส่วนดูดฝุ่น ในส่วนนี้ก๊าซจากปล่อง (flue gas) จะถูกฉีดไอพ่นด้วยสารชะล้างและทำให้อุณหภูมิลดลงถึงประมาณ 180 องศาเซลเซียส ฝุ่นและเกลือแร่ต่างๆ ที่เกิดจากการระเหยจะถูกเก็บรวบรวมและผ่านเครื่องกรองอากาศ (electrostatic filter)
5.ส่วนที่กำจัดสารมลพิษต่างๆ จากก๊าซในปล่อง (flue gas cleaning) ในส่วนนี้จะติดตั้งระบบถุงกรอง (baghouse filter) และติดตั้งอุปกรณ์กำจัดสารพิษประเภทโลหะหนักและ PCDDs/PCDFs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีภาชนะบรรจุและฉีดพ่นสารเคมีที่สำคัญ 2 ชนิด คือ ปูนขาว (lime) และถ่าน (activated carbon) ซึ่งเป็นตัวแยกหรือกำจัดไดอ๊อกซินและฟิวแรน (PCDDs/PCDFs) รวมทั้งสารปรอทออกจากก๊าซในปล่องก่อนที่จะถูกปลดปล่อยสู่บรรยากาศต่อไป
6.ส่วนติดตามตรวจสอบมลพิษทางอากาศ ส่วนนี้จะติดตั้งอุปกรณ์แสดงคุณภาพอากาศที่ปลดปล่อยจากปล่องแบบอัตโนมัติและต่อเนื่อง สามารถเห็นได้จากจอที่ติดตั้งให้บุคคลทั่วไปดูได้ สารมลพิษที่สำคัญที่แสดงบนจอคือ ปริมาณฝุ่น CO, So 2 , No x และ HCl ส่วนโลหะหนักเช่น ตะกั่ว ปรอท และ PCDDs/PCDFs จะได้จากการวิเคราะห์ตัวอย่างเป็นระยะๆ โดยติดตั้งจุดเก็บตัวอย่างไว้เป็นการถาวร PCDDs/PCDFs ที่วัดได้จากเตาเผาที่มีเทคโนโลยีสูงเช่นนี้ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 0.0001 ng. I-TEQ/Nm 3
เตาเผาขยะอันตรายหรือขยะโรงพยาบาลที่ไม่ได้ติดตั้งระบบกำจัดสารมลพิษจากก๊าซในปล่อง (flue gas cleaning) จะสร้างและปลดปล่อย PCDDs/PCDFs ออกมาสูงกว่ามาตรฐานมาก (ตัวอย่างผลการวิเคราะห์ในตารางที่ 7) ถึงแม้ว่าอุณหภูมิที่ใช้ในการเผาไหม้สูงกว่า 900 องศาเซลเซียสแล้วก็ตาม
ผลการวัดแบบเปรียบเทียบค่าความเป็นพิษตามวิธีของยุโรปและประเทศอื่นๆ (ng.I-TEQ/Nm3 )
ระบบเตาเผาศพ (crematoria) ที่ใช้เทคโนโลยีดีที่สุด (BAT)
เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกในปัจจุบันแล้วว่าการเผาศพนอกจากจะเป็นพิธีการสุดท้ายระบบหนึ่งที่กระทำต่อผู้เสียชีวิตแล้วก็ยังมีผลกระทบด้านสุขภาพอนามัยของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่
นั่นก็คือการปลดปล่อย PCDDs/PCDFs จากกระบวนการเผาไหม้นั่นเอง
องค์การอนามัยโลกได้พยายามสร้างความตระหนักให้มนุษยชาติได้เล็งเห็นถึงประเด็นปัญหานี้ในรูปแบบต่างๆ
เนื่องจากพิธีการเผาศพผู้เสียชีวิตนับวันจะเพิ่มขึ้นตามลำดับในหลายๆประเทศทั่วโลก นอกเหนือจากพิธีการที่มีความแตกต่างกันออกไปตามความนิยมและประเพณีของศาสนาแต่ละประเทศแล้ว
ระบบของพิธีการสุดท้ายที่นำร่างกายไปเผาจนเหลือแต่เถ้าถ่านนั้นก็เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างมากกับเทคโนโลยี
สุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมรวมไปถึงธุรกิจและปัญหาสังคม อันเนื่องมาจากพิษภัยของ
“ไดอ๊อกซิน/ฟิวแรน (PCDDs/PCDFs)” มีข้อสงสัยคือ
PCDDs/PCDFs ออกมาจากการเผาศพได้อย่างไรและมีปริมาณเท่าใด และมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่อย่างไร
คำตอบด้านผลกระทบต่อมนุษย์นั้นไม่แตกต่างไปจาก
PCDDs/PCDFs ที่ถูกปลดปล่อยมาจากแหล่งกำเนิดอื่นๆ
ดังที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นและเกี่ยวโยงกับปริมาณของ PCDDs/PCDFs ที่ปลดปล่อยออกมาซึ่งขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีของเตาเผาและวิธีการปฏิบัติงานของอุปกรณ์และมนุษย์ผู้ควบคุมการเผา
ส่วนการสร้าง PCDDs/PCDFs นั้นเป็นที่เข้าใจดีแล้วว่ามีสภาวะหรือปัจจัยหลัก
4 สภาวะคือ
หนึ่ง อุณหภูมิสูงกว่า 200 องศาเซลเซียส
สอง มีสารพวกอินทรีย์คาร์บอนซึ่งมาจากโลงศพ สีทาโลงศพและวัสดุประดับอื่นๆ รวมทั้งดอกไม้จันทน์และเชื้อเพลิงอื่น
สาม จาก ผลิตภัณฑ์ที่มีสาร PCDDs/PCDFs ปะปนอยู่ สารนี้อาจจะปะปนอยู่ในสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ที่ใช้รักษาเนื้อไม้ก่อนที่จะนำมาประกอบเป็นโลงศพ และสารประเภทออร์แกนโนคลอรีนซึ่งสะสมอยู่ในไขมันของร่างผู้กำลังจะถูกเผาเอง และ
สี่ มีสารคลอรีน (Cl) ในกระบวนการเผา สาร Cl เป็นตัวการสำคัญที่สุดภายใต้สภาวะการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์
สาร Cl มาจากทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีสาร PCDDs/PCDFs ปนเปื้อนอยู่ มาจากพลาสติกประเภท PVC (Polyvinyl Chloride) ที่ใช้ในโลงศพและบางรายใช้ห่อหุ้มศพ สุดท้ายร่างกายของผู้กำลังจะถูกเผาเองถึงแม้ว่าปราศจากเสื้อผ้าอาภรณ์หรืออุปกรณ์เครื่องประกอบอื่นๆ ดังกล่าวมาแล้วร่างกายของมนุษย์ก็ยังคงมีสาร Cl อยู่ในปริมาณสูงคือจาก ไขมันในร่างกายมีการศึกษาว่าร่างกายยิ่งอายุมาก อ้วนมาก ก็จะมีสาร Cl มากไปด้วย และสิ่งที่ร่างกายมนุษย์ไม่เคยขาดไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตแล้ว ร่างแห้งเหี่ยวแค่ไหนก็ยังมีเกลือตกค้างอยู่ในร่างกายทุกคน เกลือหรือที่เราทราบกันในภาษาทางเคมีก็คือ โซเดียมคลอไรด์ (NaCl) และสารประกอบคลอไรด์อื่นๆ สรุปแล้วตัวการสำคัญก็คือมีสารคลอรีน (Cl) นั่นเอง
การเผาศพและเตาเผาศพ (crematoria) ที่ดีมีประสิทธิภาพในการกำจัด PCDDs /PCDFs (ภาพที่ 3 และภาพที่ 4) มีคุณลักษณะ อุปกรณ์และการดำเนินงานคล้ายคลึงกับเตาเผาอื่นๆ ดังกล่าวมาแล้ว คือต้องมีส่วนที่ป้อนศพเข้าเผามีส่วนที่เป็นห้องเผาที่แยกเป็นห้องเผาศพและเผาก๊าซ (after burning chamber) ส่วนที่จะใช้ประโยชน์จากความร้อน ส่วนที่จะทำให้ก๊าซแห้งและดูดฝุ่น ส่วนที่ติดตามตรวจสอบสารมลพิษและที่สำคัญที่สุดก็คือส่วนที่กำจัดสาร PCDDs/ PCDFs และโลหะหนักอื่นๆ (flue gas cleaning) ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดในประเทศต่างๆ(0.1 ng. I-TEQ/Nm 3) สำหรับเตาเผาที่ปราศจากส่วนที่กำจัดสาร PCDDs/PCDFs นั้นจะมีสารพิษดังกล่าวออกมาสูงกว่ามาตรฐานหลายเท่า ซึ่งเคยมีผลการวิเคราะห์จากเตาเผาศพ (ตารางที่ 8) เช่นนี้จากประเทศหนึ่งมาแล้ว
ผลรวมของ PCDDs/PCDFs ทั้งหมดตามวิธีคิดแบบสหรัฐอเมริกา (ng.total/Nm 3 )
ผลการวัดแบบเปรียบเทียบค่าความเป็นพิษตามวิธีของยุโรปและประเทศอื่นๆ (ng.I-TEQ/Nm 3 )
มาตรการควบคุม PCDDs/PCDFs ในระดับโลก
สืบเนื่องจากคณะมนตรีประศาสน์การโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ
(UNEP Governing Council) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2538 มีมติให้องค์กรระหว่างชาติดำเนินการพิจารณาแนวนโยบายมาตรการและแผนปฏิบัติ
ในการจัดการสารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมซึ่งกำหนดไว้ในบทที่
19 (Chapter 19) ตามแผนปฏิบัติเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมโลกในศตวรรษที่
21 (Agenda 21) หนึ่งในแผนปฏิบัติได้กำหนดกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อลดการเสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน
(Persistent Organic Pollutants : POPs) เบื้องต้น12 ชนิด ทำให้กิจกรรมระหว่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจนการดำเนินการตามอนุสัญญาอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสารในกลุ่ม POPs มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ไดอ๊อกซินและฟิวแรน (PCDDs และ PCDFs) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่ง
สหประชาชาติ (UNEP) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีความเห็นสอดคล้องกัน คือ ต้องการให้มีกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศ
เพื่อควบคุมการปลดปล่อยสาร POPs เบื้องต้น 12 ชนิดดังกล่าว โดยร่วมกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล
เพื่อเตรียมกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศบังคับใช้สำหรับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยเน้นที่สาร
POPs ทั้ง 12 ชนิด
รวมทั้งศึกษาและพิจารณาสาร POPs อื่นนอกเหนือจาก 12 ชนิดที่กำหนดไว้แล้วด้วย
กลไกทางกฎหมายนี้ได้มีการพิจารณาและเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลของประเทศต่างๆ
ในการประชุม ทั้งหมด 5 ครั้ง ใช้เวลา 2
ปี 6 เดือน ตั้งแต่ พ.ศ. 2541-2543 โดยมีสมาชิกร่วมประชุมทั้งหมด 135 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศทั้งที่อยู่ภายใต้องค์การสหประชาชาติ
องค์กรรัฐบาลระหว่างประเทศ และองค์กรมหาชน รวมทั้งสิ้นจำนวน 67 องค์กร บัดนี้ การประชุมเจรจาเสร็จสมบูรณ์แล้วและได้ประกาศใช้เป็นอนุสัญญาเรียกว่า
“Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants “ ซึ่งได้มีการลงนามในอนุสัญญานี้ในการประชุมที่ประเทศสวีเดน
ระหว่างวันที่ 21-23 พฤษภาคม 2544 มีสมาชิกประเทศต่างๆ
ลงนามไปแล้ว 92 ประเทศ 1 องค์กร
(ประชาคมยุโรป) และมี 2 ประเทศที่ลงนามให้สัตยาบันเข้าเป็นประเทศภาคีในวันเดียวกับที่ลงนามในอนุสัญญา
2 ประเทศคือ แล้ว คือ ประเทศแคนาดาและประเทศฟิจิ สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ลงนามแล้วได้แก่
กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม
หลังจากนั้นจะเปิดให้ประเทศที่ยังไม่ได้ลงนามได้ลงนาม ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ
นครนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม 2544 ถึง 22 พฤษภาคม 2545 อย่างไรก็ตามอนุสัญญานี้ได้เปิดโอกาสให้ประเทศต่าง
ๆ เข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติได้หลังจากที่อนุสัญญาได้ปิดการให้ลงนามแล้ว ตั้งแต่วันที่
23 พฤษภาคม 2545 เป็นต้นไป อนุสัญญาดังกล่าวจะมีการบังคับใช้ในวันที่เก้าสิบ
(3 เดือน) หลังจากมีการส่งมอบสัตยาบันสาร ภาคยานุวัติสาร สารการยอมรับหรือสารการให้ความเห็นชอบฉบับที่
50 และหลังจากอนุสัญญามีผลบังคับใช้แล้ว
ประเทศที่ให้สัตยาบัน ภาคยานุวัติ ยอมรับ หรือให้ความเห็นชอบ
จะเป็นภาคีก็ต่อเมื่อครบเก้าสิบวันนับจากวันที่ส่งมอบสารนั้นๆ ให้เลขาธิการสหประชาชาติ
จุดมุ่งหมายของอนุสัญญาฯ คือ เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากสารมลพิษที่
ตกค้างยาวนาน สารเคมี POPs เบื้องต้น 12
ชนิดคือ อัลดริน (aldrin); คลอเดน (chlordane);
ดีดีที (DDT) ; ดิลดริน (dieldrin); เอนดริน (endrin) ; เฮปตะคลอร์ (heptachlor)
; เอชซีบี (hexachlorobenzene) ; ไมเร็กซ์ (mirex);
ท็อกซาฟีน (toxaphene); พีซีบี
(Polychlorinated Biphenyls : PCBs); ไดอ๊อกซิน (Polychlorinated
dibenzo-p-dioxins – PCDDs) และฟิวแรน (Polychlorinated
dibenzofurans - PCDFs) สาร POPs เหล่านี้เป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ซึ่งถูกย่อยสลายได้ยากโดยแสงหรือสารเคมี
หรือ โดยชีวภาพ ทำให้เกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานและสามารถเคลื่อนย้ายไปได้ไกลมาก
มีคุณสมบัติละลายน้ำได้น้อยมากแต่ละลายได้ดีในไขมันจึงเป็นผลให้มีการสะสมในไขมันของสิ่งมีชีวิต
มีความเป็นพิษสูง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต การเจ็บป่วย และความพิการแต่กำเนิดของมนุษย์และสัตว์
เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง อาการแพ้ และระบบประสาทไวต่อความรู้สึก
ระบบประสาทส่วนกลางและรอบนอกถูกทำลาย ระบบการสืบพันธุ์บกพร่อง สาร POPs บางชนิดสามารถเปลี่ยนแปลงระบบฮอร์โมน ทำลายระบบการสืบพันธุ์และระบบภูมิคุ้มกัน
พันธกรณีสำคัญที่ภาคีต้องปฏิบัติ
หลังจากที่อนุสัญญา POPs มีผลบังคับใช้แล้ว คือ
1. ใช้มาตรการทางกฎหมาย/การบริหารในการห้ามผลิตและใช้สาร
POPs 9 ชนิดแรก
2. จะนำเข้า/ส่งออกสาร POPs ได้ก็เฉพาะตามวัตถุประสงค์ที่อนุญาตให้ทำได้
เช่น มีข้อยกเว้นพิเศษ เพื่อนำมาใช้เป็นสารกำจัดปลวก สารกำจัดแมลง สารเติมแต่ง
สารละลาย เป็นต้น
3. ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการในการลดหรือเลิกการปล่อยสาร POPs จากกระบวนการผลิตภายใน 2 ปีหลังจากอนุสัญญา POPs
บังคับใช้
4. ส่งเสริมการใช้สารทดแทน แนวปฏิบัติทางด้านสิ่งแวดล้อม
และเทคนิคที่ดีที่สุด
5. ประกันว่า คลังสินค้าที่มีสาร POPs ต้องได้รับการดูแลไม่ให้ส่งผลต่อสุขภาพมนุษย์และ
สิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องดูแลจัดการของเสียที่เกิดจากสาร POPs ในทำนองเดียวกัน
6. พยายามกำหนดแผนและปฏิบัติตามแผนเพื่ออนุวัติตามอนุสัญญา POPs
และ ส่งรายงานให้ที่ประชุมภาคี ภายใน 2 ปี
หลังจากอนุสัญญา POPs มีผลบังคับใช้
7. ให้ระดับผู้บริหารและผู้กำหนดนโยบายมีความเข้าใจเรื่อง POPs
8. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ POPs แก่สาธารณชน รวมทั้งกำหนดแผนและแนวปฏิบัติในการประชาสัมพันธ์ให้สตรี
เด็ก และผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาทราบเรื่อง POPs และภัยอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
9. สนับสนุนให้มีทำการวิจัยเรื่องผลกระทบต่าง ๆ จากสาร POPs ทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ
10.ตั้งศูนย์ประสานงานระดับชาติเพื่อทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและหน้าที่อื่น
ๆ
ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ