: การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคขยะและของเสีย
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการจัดการขยะและของเสียคิดเป็นส่วนน้อยของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมด
ภาคส่วนนี้จึงอยู่ในฐานะผู้ประหยัดก๊าซเรือนกระจกให้กับภาคส่วนอื่นๆ
ด้วยการป้องกันการเกิดขยะและนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (UNEP,
2010)
มาตรการที่สามารถนำมาใช้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนนี้
ได้แก่ การนำก๊าซมีเทนที่เกิดจากการฝังกลบขยะมูลฝอยมาใช้ใหม่ การใช้เตาเผาขยะที่มีการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่
การทำปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์ การบำบัดน้ำเสีย
การรีไซเคิลและการลดจำนวนขยะให้เหลือน้อยที่สุด (IPCC,
2550)
ในส่วนของขยะจากการบริโภค (Post-consumer
waste) นับเป็นส่วนน้อยที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด
โดยส่วนประกอบหลักของก๊าซเรือนกระจกส่วนนี้
ประกอบด้วยก๊าซมีเทนที่เกิดจากการนำขยะไปฝังกลบ ก๊าซมีเทนที่เกิดจากน้ำเสีย
และก๊าซไนตรัสออกไซด์ นอกจากนี้ ยังมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
อีกเล็กน้อย ที่เกิดจากการเผาขยะที่มีคาร์บอน (เช่น พลาสติก
และวัตถุสิ่งทอสังเคราะห์)
การทำให้ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากขยะและของเสียลดน้อยลง
สามารถทำได้ด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลาย เช่น
การนำก๊าซที่เกิดจากขยะที่ถูกฝังกลบมาใช้ (เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน)
การนำขยะจากการบริโภคมาใช้ใหม่ (เพื่อป้องกันการสร้างขยะ)
การทำปุ๋ยจากขยะและของเสีย (เพื่อหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก)
รวมไปถึงการดำเนินกระบวนการที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าการนำขยะไปฝังกลบ (กระบวนการที่ใช้ความร้อน
เช่น การกำจัดขยะโดยการเผา กระบวนการเผาไหม้ร่วมกันทางอุตสาหกรรม
การบำบัดโดยวิธีเชิงกลชีวภาพ (Mechanical
Biological Treatment (MBT)) และการย่อยสลายโดยไม่ใช้ออกซิเจน)
ดังนั้น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากขยะและของเสีย
ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่หลากหลาย โดยการนำเทคโนโลยีต่างๆ ไปประยุกต์ใช้นั้นจะขึ้นอยู่กับแรงผลักดันจากระดับท้องถิ่น
ประเทศ และภูมิภาค ในการบริหารจัดการขยะและของเสีย และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ที่มา: Environment, 2016 ศูนย์สารสนเทศสิ่งแวดล้อม
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม