11 เมษายน 2560

: การท่องเที่ยวกับการตั้งรับภัยพิบัติในประเทศไทย


: การท่องเที่ยวกับการตั้งรับภัยพิบัติในประเทศไทย



          การท่องเที่ยวมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ทุกประเภท ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใด ๆ มักทำให้การท่องเที่ยวซบเซา เนื่องจากนักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่นในความปลอดภัยและสวัสดิภาพ ภัยพิบัติส่งผลให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นโรงแรม รีสอร์ต บริการนำเที่ยว และผู้ประกอบธุรกิจในสถานที่ท่องเที่ยวขาดรายได้ ต้องเสียทั้งงบประมาณในการซ่อมแซมฟื้นฟู และต้องใช้เวลาสร้างความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวให้กลับคืนมา
การสำรวจสถานที่ท่องเที่ยวและสถานประกอบการเพื่อประเมินความเสี่ยงจากภัยพิบัติจึงเป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรกเพื่อให้รู้ว่าหากเกิดภัยจะต้องดูแลป้องกันส่วนใดก่อนเป็นอันดับแรก หรือมีส่วนใดที่ต้องดูแลรักษาไม่ให้เกิดความเสียหายโดยเด็ดขาด เช่น สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมหรือสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งเป็นมรดกโลก นอกจากนี้ การพิจารณามาตรการที่จำเป็นในการลดความเสี่ยง ทั้งการเตรียมพร้อม ปรับตัวและรับมือของภาคการท่องเที่ยวเพื่อความปลอดภัยของกิจการ และเพื่อให้นักท่องเที่ยวมั่นใจในศักยภาพของพื้นที่ก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
มาตรการเตรียมรับมือภัยพิบัติ
1. มาตรการป้องกันและลดผลกระทบ
1.1   มาตรการที่ใช้โครงสร้าง
1.1.1         ก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท สถานประกอบการให้มีโครงสร้างแข็งแรงได้มาตรฐาน โดยเฉพาะหากตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ
1.1.2         ใช้โครงสร้างป้องกันน้ำท่วมในสถานประกอบการ สถานที่ท่องเที่ยวและโบราณสถานในพื้นที่น้ำท่วมถึง
1.2   มาตรการที่ไม่ใช้โครงสร้าง
1.2.1         หลีกเลี่ยงการเลือกทำเลที่ตั้งของกิจการในพื้นที่ล่อแหลม โดยเฉพาะการบุกรุกก่อสร้างในพื้นที่ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังทำลายระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสาเหตุเพิ่มความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และยังเสี่ยงในการได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติด้วย
1.2.2         จัดระบบและจัดทำแผนรักษาความปลอดภัยในสถานที่ท่องเที่ยวโดยมีผู้เชี่ยวชาญและมีทักษะดูแล
1.2.3         จัดระบบการทิ้งและกำจัดขยะ ของเสีย น้ำเสีย จัดทำระบบบำบัดน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลในสถานประกอบการที่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค
2. มาตรการเตรียมความพร้อม
1.3   การปรับตัว
1.3.1         ส่งเสริมและสนับสนุนข้าราชการ ตำรวจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ อาสาสมัคร พนักงานและบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ ฯลฯ ให้สื่อสารภาษาต่างประเทศได้ เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้
1.3.2         จัดทำแผนที่บอกเส้นทาง ปรับปรุงระบบป้ายสาธารณะให้ชัดเจน และติดตั้งในแหล่งชุมชน
1.4   การเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ
1.4.1         กำหนดเส้นทางอพยพ วิธีการอพยพและจุดปลอดภัย รวมถึงมีป้ายบอกเส้นทางที่ชัดเจน เช่นเดียวกับเส้นทางหนีไฟในโรงแรม
1.4.2         ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวและพนักงานเรื่องความปลอดภัยและข้อปฏิบัติในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ รวมทั้งแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน
1.4.3         ซ้อมแผนอพยพหนีไฟ และร่วมซ้อมแผนอพยพคลื่นสึนามิ (ในกรณีอยู่ในพื้นที่เสี่ยง) ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่และชุมชน
1.4.4         จัดเตรียมอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย และติดตั้งระบบดับเพลิงที่ได้มาตรฐาน มีการตรวจสอบให้สามารถใช้งานได้เมื่อเกิดภัย
1.4.5         เตรียมพร้อมด้านการช่วยเหลือพนักงานและนักท่องเที่ยวหากเกิดภัย
1.4.6         จัดเตรียมอาหาร น้ำดื่ม และเครื่องใช้เพื่อการยังชีพเก็บไว้ในจุดปลอดภัย และตรวจสอบวันหมดอายุอยู่เสมอ
1.4.7         เตรียมพร้อมระบบสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ มีช่องทางรับส่งข้อมูลข่าวสารหลายช่องทางเพื่อการแจ้งเตือนภัย และสามารถสื่อสารให้นักท่องเที่ยวรับทราบและเข้าใจได้ทันเวลาและทันท่วงที ตลอดจนจัดเตรียมระบบสื่อสารสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
1.4.8         จัดทำเอกสารแนะนำเรื่องความปลอดภัยไว้ในโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยว เช่น แผ่นพับประชาสัมพันธ์ หรือสื่อวิดีทัศน์ หลากหลายภาษา เพื่อให้ข้อมูลเรื่องภัยพิบัติ การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภัย เส้นทางอพยพ พื้นที่ปลอดภัย

1.4.9         ทำประกันความเสียหายหากเกิดภัยต่าง ๆ

                         ที่มา: Environment, 2016  ศูนย์สารสนเทศสิ่งแวดล้อม 
                            กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม